จากกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเครือข่ายขับไล่ประยุทธ์ ได้นัดหมายรวมตัวนัดมวลชนจัดกิจกรรม “CarMob 19 กันยา ขับรถยนต์ชนรถถัง” โดยนัดรวมตัวพร้อมกันที่แยกอโศก เวลา 14.00 น. ก่อนที่เวลา 15.00 น. เคลื่อนตัวมุ่งหน้าพระราม 4 เลี้ยวขวาแยกคลองเตย ไปยังสะพานกรุงเทพ จุดหมายที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ และกิจกรรมจะยุติได้ราว 18.00 น. และแยกย้ายกันกลับโดยไม่มีความรุนแรงตามที่เสนอข่าวไปนั้น

ความคืบหน้ากรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก สตช. ร่วมกันเปิดเผยว่า กรณีที่มีการนัดหมายชุมนุมผ่านช่องทางออนไลน์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 18 ก.ย. กลุ่มทะลุแก๊ส ยังไม่ทราบเวลานัดหมายที่สามเหลี่ยมดินแดง และในวันที่ 19 ก.ย. กลุ่มนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ จัดกิจกรรม Car Mob เริ่มเวลา 14.00 น. จากแยกโศก สิ้นสุดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ นัดหมายเวลา 17.30 น. ที่สามเหลี่ยมดินแดง

กองบัญชาการตำรวจนครบาล ขอเตือนว่ากรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด การชุมนุมหรือรวมกลุ่มทำกิจกรรมที่มีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่โรค จะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 10 ลง 31 ส.ค. 64 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ อีกส่วนหนึ่ง โดยได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองไว้แล้ว

จากการชุมนุมในวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา ของกลุ่มทะลุแก๊ส ที่แยกดินแดง เวลา 19.20 น. มีการปิดกั้นถนน จุดไฟผาทรัพย์สินต่างๆ มีการยิงประทัดและระเบิดใส่ใต้ทางด่วนก่อให้เกิดความเดือดร้อนให้กับประชาชนในละแวก และเป็นเหตุให้มีทรัพย์สินสาธารณประโยชน์ได้รับความเสียหายจำนวนหนึ่ง เวลา 21.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ประกาศให้กลุ่มฯ​ ยุติการกระทำและออกจากพื้นที่ดังกล่าวเนื่องจากเป็นห้วงเวลาเคอร์ฟิวแล้ว โดยเวลา 22.55 น.

นอกจากนี้ยังพบกลุ่มมวลชนบางส่วนยังมาก่อความวุ่นวายขว้างประทัดบริเวณหน้าสำนักงานเขตดินแดงอยู่ในระหว่างวันที่ 15-17 ก.ย. ได้ติดตามจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมตามหมายจับ จำนวน 18 เป้าหมาย และสามารถจับกุมได้ 11 ราย และมามอบตัวอีก 4 ราย เหลืออีก 3 รายที่ยังอยู่ในระหว่างติดตามจับกุม ซึ่งมีจับกุมคดีสำคัญดังนี้ 1.เหตุวางเพลิงเผาทรัพย์สินสำคัญ หน้ากระทรวงแรงงาน เมื่อ 14 ก.ย. จับกุม 3 ราย ในข้อหา ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง, การพ่นสี มีข้อความผิดกฎหมาย บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง เมื่อ 13 ก.ย. จับกุม 1 ราย ในข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง และจากการที่เพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมโพสต์เชิญชวนให้มาร่วมชุมนุมในวันที่ 1,​ 2,​ 7 และ 10 ส.ค. ทำให้มีผู้ออกมาชุมนุมและก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองจับกุม 1 ราย ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(3) และยุยงปุกปั่น และกรณีวางเพลิงเผารถยก ใต้ทางด่วนดินแดง

และเมื่อวันที่ 11 ส.ค. จับกุม 1 ราย ข้อหา วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ,มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองและ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีทุบทำลายกล้องวงจรปิดบริเวณแยกดินแดง เมื่อวันที่ 10 ก.ย.64 จับกุม 1 รายข้อหา ทำให้เสียทรัพย์สาธารณะประโยชน์, มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองๆ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหารการข่าว ที่ลานจอดรถบริษัทประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด ถนนดินแดง เมื่อ 29 ส.ค. จับกุม 1 ราย ในข้อหา ทำร้ายร่างกายเจ้า พนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่

โดยทาง บช.น. จะดำเนินการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เพื่อติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ความรุนแรง และก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองมาดำเนินคดีตามกฎหมายทุกราย ซึ่งหากเยาวชนได้กระทำความผิด ผู้ปกครองอาจจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมาได้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 216 คดี มีผู้ต้องหาทั้งหมด 779 คน ติดตามจับกุมตัวได้แล้ว 534 คน

ทั้งนี้ในส่วนการที่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ลงพื้นที่เข้าพูดคุยกับชาวแฟลตดินแดง เพื่อให้เป็นแนวร่วม ในการดูแลรักษาความปลอดภัย จากที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมลักลอบเข้าไปใช้ แฟลตดินแดงเป็นที่หลบซ่อน และสร้างสถานการณ์ให้เกิดความเดือดร้อน รวมถึงเพื่อสร้างความเข้าใจ ถึงข้อควรปฏิบัติที่จะนำประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม ในการตั้งจุดตรวจ สังเกตการณ์​ หาเบาะแสด้านการข่าว อีกทั้งสร้างความเข้าใจในการเข้าควบคุมตัวผู้กระทำผิด หากเกิดเหตุการณ์ซึ่งหน้า อาทิ การวางเพลิง เผาทำลายทรัพย์สิน ขว้างปาสิ่งของวัตถุระเบิด หรือ ความผิดที่ก่อให้เกิดอันตราย พร้อมยืนยันว่าไม่ใช่การนำมวลชนมาชนกับมวลชน โดยแนวคิดดังกล่าวจะช่วยลดความรุนแรง และควบคุมพื้นที่การชุมนุมได้ในวงจำกัด และแยกแยะประชาชนชาวแฟลตดินแดงกับผู้ชุมนุมได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

โดยจากการข่าวการชุมนุมในวันพรุ่งนี้ มีความห่วงใยเรื่องการจราจร สำหรับกิจกรรมคาร์ม็อบ ซึ่งเส้นทางที่จะได้รับผลกระทบ ประกอบไปด้วยถนนสุขุมวิท ตั้งแต่แยกนานาจนถึงซอยสุขุมวิท 24, ถนนอโศกมนตรี,​ ถนนรัชดาภิเษก,​ ถนนพระรามสี่ ตั้งแต่แยกพระรามสี่ถึงแยกวิทยุ,​ ถนนสาทรเหนือ และถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ขอให้ประชาชนที่จะสัญจรไปยังบริเวณดังกล่าวใช้เส้นทางเลี่ยงถนนพระรามเก้า,​ ถนนจตุรทิศ,​ ถนนเพชรบุรี, ถนนวิทยุ,​ ถนนราชดำริ,​ ถนนสีลม, ซอยสุขุมวิท 3,​ ซอยสุขสุขุมวิท 24,​ ซอยสุขุมวิท 55, ซอยสุขุมวิท 63 และทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษกรุงเทพมหานคร

อีกเส้นทางในพื้นที่รวมตัวเส้นทางที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุมฯ ถนนราชดำเนินใน ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก ถนนตะนาว ถนนดินสอ ถนนหลานหลวง และสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยให้ประชาชนที่จะสัญจรไปยังบริเวณดังกล่าวใช้เส้นทางเลี่ยงทิศเหนือ ถนนสุโขทัย ถนนนครไชยศรี ถนนเศรษฐศิริ ถนนอำนวยสงคราม สะพานกรุงธน (ซังฮี้) สะพานพระราม 7 ทิศตะวันออก ถนนวิภาวดีรังสิต (ช่องทางหลัก) โทลล์เวย์ ถนนพหลโยธิน ถนนพระราม 6 ทางพิเศษศรีรัช ถนนสวรรคโลก ทิศใต้ ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ถนนหลานหลวง (แยกยมราช – แยกหลานหลวง) ถนนบำรุงเมือง ถนนวรจักร ถนนเจริญกรุง​ ถนนเยาวราช ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4 ทิศตะวันตก ถนนสามเสน ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนบรมราชชนนี ถนนอรุณอมรินทร์ สะพานพระราม 8 สะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานพระปกเกล้า