เมื่อวันที่  18 ก.ย. นพ. พงศกร จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสาร โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องของการฉีดวัคซีนโควิดในเด็ก ดูจะเป็นเรื่องที่ถกเถียงและสร้างความกังวลให้กับผู้ปกครองไม่ใช่น้อย ควรให้ลูกฉีดหรือเปล่า ถ้าฉีด ฉีดตัวไหนดี ไม่ฉีดได้ไหม

นี่เป็นข้อมูลที่ผมรวบรวมมาให้ เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ปกครองครับ

1. แนวความคิดการฉีดวัคซีนโควิดให้เด็กๆ เกิดขึ้นเพราะว่า อีกไม่นานโรงเรียนจะเปิดแบบปกติ และเด็กๆ สามารถติดโควิดได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ การฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็ก จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ที่ทำให้เด็กๆ กลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติและปลอดภัย

2. จนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีวัคซีนโควิดตัวไหนได้รับการยืนยันจากผู้ผลิตว่าเหมาะสมสำหรับเด็ก เพราะในช่วงแรกทุกบริษัทเน้นผลิตเพื่อผู้ใหญ่เป็นอันดับแรกๆ ในขณะนี้ มีเฉพาะวัคซีนไฟเซอร์เพียงชนิดเดียว ที่เคลมว่า วัคซีนของตัวเองสามารถใช้ในเด็กได้อย่างปลอดภัยที่ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนให้กับเด็ก เหมือนที่ฉีดให้กับผู้ใหญ่ได้ เนื่องจากน้ำหนักตัวของเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ เด็กยังอยู่ในช่วงวัยที่ระบบต่างๆในร่างกายยังมีพัฒนาการ

การจะให้วัคซีนใดๆ จึงต้องมีการคำนวณขนาดยาที่จะฉีดให้เหมาะสม รวมถึงมีการติดตามผลข้างเคียงในระยะยาว ในขณะที่โควิดระบาดรุนแรงแบบนี้ การจะรอให้ศึกษาผลข้างเคียง ผลแทรกซ้อนต่างๆ ในเด็ก จึงอาจจะไม่ทันการณ์กัน นี่จึงเป็นที่มีของการที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศ เริ่มตัดสินใจให้เด็กๆ ได้รับวัคซีนในที่สุด

3. สำหรับในไทย ตอนนี้มีวัคซีนไฟเซอร์เพียงตัวเดียวเท่านั้น ที่ผ่านการอนุมัติรับรองโดยองค์การอาหารและยา ให้สามารถฉีดใช้ได้กับกลุ่มเด็ก ส่วน Sinopharm นั้น จนถึงวันนี้ที่เขียนบทความ (18 กันยายน 2564 ยังไม่ได้รับการอนุมัติโดย อย. ให้ใช้ในเด็กครับ

4. สำหรับประสบการณ์การฉีดวัคซีนให้กับเด็กๆ หลายประเทศมีการฉีดไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 12-18 ปีไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี และฮ่องกง

5. จากการเก็บรวบรวมข้อมูลการฉีดวัคซีน mRNA ในกลุ่มเด็ก ที่พบว่าอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ มีตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงมาก ผลข้างเคียงแบบรุนแรงคือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือภาษาแพทย์เรียกว่า Myocarditis ซึ่งพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง อาการมักจะเกิดภายในสามสิบวันหลังรับวัคซีน  

* ข้อมูลจาก CDC หรือศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา

อาการของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบคือ มีใจสั่น ใจเต้นแรง เจ็บแน่นหน้าอก ส่วนมากหายไปได้เอง แต่บางรายอาจต้องแอดมิดเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาล

ตัวเลขในสหรัฐอเมริกา พบว่าฉีดไฟเซอร์ให้เด็ก 1 ล้านคน พบมีอาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ 60 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทางการแพทย์ยอมรับได้ เมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงในการเกิดโรคโควิด

* ข้อมูลจาก CDC สหรัฐอเมริกา

6. ในประเทศไทยมีการฉีดไฟเซอร์ให้เด็กอายุระหว่าง 12-18 ปี ที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงไปบ้างแล้ว (ผมไม่มีตัวเลขว่าฉีดไปแล้วกี่ราย / update เวลา 19.55 น. วันที่ 18 กันยายน มีเด็กๆ ฉีดไปแล้ว 860,000 รายครับ ขอบคุณข้อมูลจากคุณ Chanchai Janekokiattikun)

เด็กที่ฉีดไปทั้งหมด พบมีผลข้างเคียงที่รุนแรง 1 ราย เป็นเด็กชายอายุ 13 ปี เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ น้องมีโรคอ้วนเป็นปัจจัยร่วม และขณะนี้ได้รับการรักษาจนปลอดภัยแล้วครับ

7. ขณะนี้มีวัคซีนสำหรับเด็กที่ อย.อนุญาตให้ใช้คือไฟเซอร์ สำหรับผู้ปกครองที่กังวลใจ ไม่อยากให้ลูกหลานฉีดวัคซีนในกลุ่ม mRNA สามารถเลือกไปใช้วัคซีนกลุ่มเชื้อตาย คือ sinopharm ที่บริจาคให้โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ครับ

8. โครงการฉีด Sinopharm ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ชื่อว่า “โครงการ VACC2 School” เป็นการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุตั้งแต่ 10-18 ปี โดยถือว่าเป็นกลุ่มทดลองเพื่อการศึกษาและติดตามผลของวัคซีน ซึ่งโครงการคาดว่าจะสามารถทำให้เด็กๆ กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว ก่อนโรงเรียนจะเปิดภาคเรียนใหม่ครับ

9. อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนในเด็กนั้น ศบค. เน้นย้ำว่าไม่ใช่การบังคับ เด็กๆ ที่ไม่อยากฉีดก็สามารถเลือกที่จะไม่ฉีดได้ และไม่เกี่ยวข้องกับการกลับเข้าชั้นเรียน หมายความว่า ถึงไม่ฉีดก็ยังกลับไปเรียนได้ตามปกติ แต่อาจจะมีความเสี่ยงกว่ากลุ่มเด็กๆ ที่ฉีดวัคซีนครับ

10. อย่างไรก็ตาม วัคซีนไม่ได้ทำให้เด็กๆไม่ติดโควิด แต่จะช่วยลดความรุนแรงลง ถ้าเด็กๆ มีการติดเชื้อ และที่สำคัญ ถึงฉีดวัคซีนไปแล้ว เด็กๆ ก็ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และรักษาระยะห่างทางสังคมอยู่เหมือนเดิมครับ

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ