เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายวัลลภ ยุติธรรมดำรง รองราชเลขาธิการวิทยาลัยจุฬาภรณ์เข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้พิจารณารับเป็นคดีพิเศษ กรณีมีผู้ปลอมบัญชีไลน์เพจเฟซบุ๊ก และอีเมล ในนามราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวมทั้งใช้ตราสัญลักษณ์ปลอมของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จากนั้นแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของราชวิทยาลัยฯ ส่งคิวอาร์โค้ด พร้อมเพย์ ไปหลอกลวงฉ้อโกงขายวัคซีนซิโนฟาร์มให้กับประชาชน

โดย นายวัลลภ กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีบุคคลที่ปลอมแปลงบัญชีไลน์ และเฟซบุ๊ก โดยนำชื่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และตราสัญลักษณ์ รวมถึงรูปภาพต่างๆ ไปใช้ เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนสั่งจองวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม ขณะนี้มีผู้ที่หลงเชื่อโอนเงินค่าวัคซีนแล้วหลายราย มีมูลค่าความเสียหายหลักล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ได้แจ้งความดำเนินคดีไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง และ สภ.เมืองนนทบุรี แล้ว แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทบต่อประชาชนจำนวนมาก และมีมูลค่าความเสียหายสูง จึงมายื่นเรื่องให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณาว่าจะเข้าหลักเกณฑ์รับเป็นคดีพิเศษหรือไม่

“….จากข้อมูลพบว่ากลุ่มมิจฉาชีพปลอมแปลงบัญชีไลน์และเฟสบุ๊คขึ้นมาตั้งแต่ราชวิทยาลัยฯ นำเข้าวัคซีนชิโนฟาร์มในลอตแรกๆ แต่ขณะนั้นหลักฐานยังไม่ชัดเจน ทราบว่าคนพวกนี้จะแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เข้าไปตอบคำถามข้อสงสัยในกลุ่มสาธารณะที่พูดคุยเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนต่างๆ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อ และหลอกให้จองวัคซีนพร้อมให้โอนเงิน โดยอ้างว่าจะได้ราคาวัคซีนที่ต่ำกว่าราคาที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดสรรด้วย…” นายวัลลภ กล่าว

ขณะที่ นาวาอากาศเอก ปพาฬ ศิริสวัสดิ์ นิติกรราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า พฤติกรรมของมิจฉาชีพดังกล่าวจะเปลี่ยนหน้าเพจ ไปเรื่อย ๆ เมื่อหลอกได้แล้วก็จะปิดเพจ และทำในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังพบอีกว่ามีการไปหลอกขอ Username และ Password ของทางโรงพยาบาลที่ได้รับจัดสรรวัคซีนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และทำการล็อกอินเข้าไปเพิ่มชื่อผู้ได้รับจัดสรรวัคซีน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและไปหลอกประชาชนต่อ ซึ่งมีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำนี้ และเข้ามาร้องเรียนต่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ด้วย

ด้าน พ.ต.ท.กรวัชร์ กล่าวว่า หลังรับเรื่องจากราชวิทยาลัยฯแล้ว จะมอบหมายให้คณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหลักฐานทั้งหมดว่าเข้าข่ายที่จะรับคดีพิเศษได้หรือไม่ หากพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากและคดีมีความยุ่งยากสลับซับซ้อนก็จะรับไว้เป็นคดีพิเศษ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นพบว่าคดีดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์