เกิดคำถามตามมาทันที  เพราะบ่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินมีหลายจุด หลายคนจึงกังวลว่าวันหนึ่งอาจต้องเป็นผู้ประสบเหตุหรือไม่ ในเรื่องนี้ “ทีมข่าวชุมชนเมือง”มีโอกาสสอบถาม รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ซึ่งสะท้อนหลายมุมมองน่าสนใจ เริ่มจากการทำความเข้าใจว่าเมืองต้องมีการพัฒนาปรับปรุง และยกระดับสาธารณูปโภคไปตามยุคสมัย รวมถึงความก้าวหน้าทางนวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อคุณภาพชีวิตเป็น Smart City เพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆให้สามารถแข่งขันกับเวทีโลก รองรับอนาคต                                                                                      

การเปลี่ยน“ระบบสายไฟฟ้าอากาศ”มาเป็น“ระบบท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน”ที่ดำเนินการขุดอยู่หลายแห่งในกทม. และหลายจังหวัดจึงถือเป็นประโยชน์ เพราะช่วยให้ระบบสายไฟมีความมั่นคง ปลอดภัย และง่ายต่อการบำรุงรักษา รวมถึงเป็นผลดีต่อทัศนียภาพของเมืองที่เป็นระเบียบ                                                                                                                                                        

อย่างไรก็ตาม จากภาพผลพวงที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นจุดอ่อนที่ต้องระวังอย่างไรบ้างนั้น อธิการบดี สจล. ระบุ การก่อสร้างและการปฏิบัติงานระบบท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินเกี่ยวข้องกับพื้นที่สาธารณะโดยตรง ทั้งถนนและการสัญจรของคนจำนวนมาก ยวดยานพาหนะหลายรูปแบบ ตั้งแต่รถยนต์ส่วนบุคคล รถเมล์ รถมอเตอร์ไซค์ สามล้อ รถบรรทุก รถขนส่ง จักรยาน ไปจนถึงคนเดินเท้า และอาคารบ้านเรือนที่อยู่ใกล้เคียง                                                                                                                                                          

ดังนั้น จำเป็นต้องมีการคำนวณที่ครอบคลุมด้านกำลังรับแรง และ“ลักษณะการวิบัติ” ไม่ควรมีการวิบัติที่กระทบต่อผู้ใช้งานถนน โครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคใต้ดินจึงต้องคำนึงถึงมาตรฐานและความปลอดภัยสาธารณะ(Public Safety)ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ออกแบบ ขุดท่อไปยังบริเวณต่างๆ การก่อสร้างควรมีการวิเคราะห์คำนวณ โดยพิจารณาปัจจัยและความเสี่ยงต่างๆในพื้นที่นั้น  ซึ่งอาจทำให้เกิดการทรุดตัว การถล่มของดินในจุดก่อสร้างด้วย                                                                                              

หากถามถึงมาตรฐานทางวิศวกรรมเกี่ยวกับการก่อสร้างสาธารณูปโภคลักษณะนี้ อธิการบดี สจล. เผยว่า การออกแบบโครงสร้างชั่วคราวดังกล่าวมีอยู่ใน Design Code การออกแบบมาตรฐานสากลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะโครงสร้างเหล็ก หรือ  คอนกรีตเสริมเหล็ก                                                                                                                                                                   

ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการพูดถึงกำลังรับแรงที่เพียงพอแล้ว  น้ำหนักบรรทุกอาจเกินกำลังรับ ทำให้เกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม การออกแบบโครงสร้างดังกล่าวควรพิจารณาถึง“ลักษณะการวิบัติเพิ่มเติม” ในกรณีมีการใช้น้ำหนักบรรทุกเกิน โครงสร้างอาจเสียหาย แต่ลักษณะวิบัติจะต้องไม่พังทลาย หรือ ยุบตัวลงไป จนถึงระดับที่ไม่สามารถใช้งานทางต่อไปได้ เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ใช้งานทาง                                                                                                                                                                                     

“ผู้รับเหมาจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องลักษณะการวิบัติให้มากขึ้น เพราะในกรณีที่เกิดน้ำหนักรับแรงเกินกำลังจริงๆ “คานรองรับฝาท่อ” ต้องมีความเสียหาย แต่ลักษณะการวิบัติควรอยู่ในรูปแบบ“การครากของเหล็ก”(Yielding) มากกว่า“การพังทลาย” (Collapse) ลงไปอย่างที่พบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”                                                                                         

พร้อมยกตัวอย่าง หากมีการเสริมโครงสร้าง“เสาค้ำยันฝาท่อ”เพิ่มเติมไว้  ในกรณีที่คานรองรับตัวบนเกิดความเสียหาย ฝาท่อยังสามารถวางตัวได้อยู่ในระนาบใกล้เคียงเดิมด้วยเสาค้ำยันดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้รถเคลื่อนตัวต่อไปได้ โดยไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้ถนน                                                                                                                                                                                       

นอกจากนี้ ในขั้นตอนออกแบบชิ้นส่วน/การเสริมกำลัง และกระบวนการการก่อสร้างควรเป็นมาตรฐานสากล ไม่ว่าขั้นตอน“การเสริมแผ่นเหล็ก Stiffener” เพื่อเพิ่มกำลังรับแรงเฉือน และการคำนวณการโก่งตัว กรณีวิบัติแบบต่างๆ ควรทำให้ครอบคลุมและชัดเจน                                                                                                                                                                       

อีกข้อสำคัญคือประชาชนจะสามารถสังเกตความผิดปกติล่วงหน้าได้หรือไม่ อธิการบดี สจล. ชี้แจงว่าระหว่างการก่อสร้าง หน่วยงานที่ดูแลกระบวนสร้าง ควรมีวิศวกรตรวจสอบโครงสร้างตลอดเวลา เนื่องจากผู้รับผิดชอบจะเข้าใจพฤติกรรมของโครงสร้างมากที่สุด เพื่อวางแผนและบริหารจัดการความปลอดภัอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ฝึกอบรมบุคลากรให้ใช้อุปกรณ์เครื่องจักรอย่างปลอดภัย  มีป้ายเตือนก่อนไซต์งาน และแสงสว่างเพียงพอ การปรับพื้นผิวทางหากไม่เรียบเสมอ หรือมีรอยแยก รถจักรยานยนต์ที่วิ่งมาด้วยความเร็วอาจล้มและไปชนคันอื่น                                                                                                                          

“การสังเกตความผิดปกติ อาจดูได้จากการโก่งตัวของแผ่นฝาท่อที่ผิดปกติ หรือทรุดตัวสูงกว่าปกติ หรือระนาบของพื้นขณะขับรถผ่านต่างกันมากจนรู้สึกตัวได้ ลักษณะนี้อาจเป็นสัญญาณว่า คานที่รองรับฝาท่ออาจเกิดความเสียหายประเภท Yielding หรือโก่งตัวเฉพาะจุด (Local Buckling) เมื่อพบหน่วยงานรับผิดชอบควรซ่อมแซม หรือเปลี่ยนตัวคานรับฝาท่อเร่งด่วน”                 

พร้อมแนะนำ“เจ้าของบ้าน”ที่อยู่ใกล้ไซต์ก่อสร้าง ควรถ่ายภาพบ้านเก็บเป็นหลักฐานตั้งแต่ก่อนโครงการเริ่มก่อสร้าง และขอเบอร์โทรศัพท์ผู้ที่รับผิดชอบไว้  สำรวจภายในและภายนอกบ้านอยู่เสมอ                                                                                               

หากได้ยินเสียงลั่น รอยร้าว รอยแตก ต้องแจ้งโครงการให้แก้ไขหรือปรับปรุงวิธีก่อสร้าง เนื่องจากช่วงการก่อสร้างชั้นใต้ดินจะเป็นงานที่มีผลกระทบต่ออาคารมากสุด เพราะดินอาจเลื่อนตัวได้ ทำให้ผนัง หรือพื้นแตกร้าวเสียหายมีโอกาสเสียหาย”อธิการบดี สจล. ทิ้งท้าย.

ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน