เมื่อวันที่ 21 พ.ย. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สวมใส่ผ้าไหมลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ไหมพันธุ์ไทย ย้อมสีธรรมชาติสีแดงจากครั่ง ผลงานช่างทอผ้าจังหวัดมหาสารคาม เข้าประชุมคณะรัฐมนตรีช่วงเช้าวันนี้ นำมาซึ่งความปลาบปลื้มใจของพี่น้องช่างทอผ้าและชาว OTOP ผ้าไทยทั่วประเทศ เพราะได้เห็นผู้นำประเทศได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำทำก่อน สวมใส่ผ้าไทย หนุนเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากงานหัตถศิลป์หัตถกรรมภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ตลอดทั้งวันนี้ พี่น้อง OTOP ทั่วประเทศต่างส่งข้อความมาแสดงความปลาบปลื้มดีใจที่วันนี้ได้เห็นนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้สวมใส่ผ้าไทยเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนายกฯ พี่น้องชาว OTOP และศิลปาชีพ ปลื้มใจเป็นพิเศษ เพราะท่านงามสง่าด้วยผ้าไทยลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ที่สร้างสรรค์โดยกลุ่ม OTOP จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นไหมพื้นบ้านและที่สำคัญที่สุด คือ ย้อมสีธรรมชาติจากครั่ง และบรรจงตัดเย็บด้วยความสวยงาม ซึ่งการที่นายกฯและครม.ได้ให้การสนับสนุนพี่น้อง OTOP และพี่น้องศิลปาชีพ ด้วยการสวมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาส ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญ เป็น “พลังขับเคลื่อน” ที่จะทำให้พี่น้องคนไทยและชาวต่างประเทศมีความนิยมหันมาสนใจในการที่จะสวมใส่ผ้าไทยเพิ่มมากขึ้น อันสอดคล้องกับแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องคนไทย จึงได้ทรงลงมาช่วยในการที่จะเป็นต้นแบบทำให้พี่น้องคนไทยได้คิดออกแบบลวดลายใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เป็นลายผ้าพระราชทานลายแรก ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าลายขอเจ้าฟ้าบ้าง ลายขอเจ้าหญิงบ้าง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ลายผ้าพระราชทานลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เป็นลายผ้าพระราชทานลวดลายแรกที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นในการใช้พระปรีชาชาญด้านการออกแบบแฟชั่นแบบร่วมสมัย มาสร้างสรรค์ลายและพระราชทานลายให้กับช่างทอผ้าทั่วประเทศ โดยความหมายของลายผ้าพระราชทานลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลาย S หมายถึง Sirivannavari สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ลาย S จำนวน 10 แถว หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักที่พระองค์มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน = Eternity Love เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาลวดลายผ้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากลเพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ด้วยพระปณิธานอันแรงกล้าของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมผ้าไทย งานหัตถศิลป์หัตถกรรมไทย ได้สะท้อนเป็นที่ประจักษ์ผ่านภาพที่ช่างทอผ้าและชาว OTOP ทั่วประเทศจดจำมิรู้ลืม คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงเป็นองค์ประธานเปิดงาน OTOP City 2020 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 พระองค์ได้พระราชทานแบบลายผ้าพระราชทานลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ให้แก่นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 29 โดยทรงประทับบนกี่ทอผ้าที่แวดล้อมไปด้วยพี่น้องผู้ประกอบการ OTOP 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ซึ่งในการเสด็จครั้งนั้น ทรงมีพระดำรัสด้วยพระสุรเสียงที่หนักแน่น ความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าได้มีโอกาสตามเสด็จสมเด็จย่า สมเด็จพระพันปีหลวงมาตั้งแต่เด็ก ได้เห็นท่านทรงงาน และรับรู้ถึงความทุ่มเทของพระองค์ท่าน ในการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและสืบสานภูมิปัญญาไทยมาโดยตลอด เห็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง ข้าพเจ้า มีความตั้งใจที่จะสืบสานพระราชปณิธาน โดยข้าพเจ้าได้นำประสบการณ์การทำงาน การศึกษา การเดินทางไปชมผ้าไทยและงานหัตถกรรมพื้นบ้านตามภาคต่างๆ ทำให้เห็นผลงานที่สามารถนำมาพัฒนาให้ร่วมสมัยและเป็นสากลได้” ซึ่งพระกรุณาธิคุณในครั้งนี้เปรียบประดุจแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่ทำให้ตั้งแต่หลังวันที่ 21 ธ.ค. 63 เป็นต้นมา เกิดเสียงดังที่ใต้ถุนบ้านทุกหลังในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน นั่นคือ เสียงกี่ที่กระทบกันเพื่อทอผ้าลายพระราชทานกันตลอดทั้งวันทั้งคืน 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า และทรงโปรดให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยจดลิขสิทธิ์ พร้อมทั้งพระราชทานพระราชานุญาตให้กลุ่มช่างทอผ้าทุกกลุ่มสามารถนำไปใช้ได้ทุกเทคนิค ประยุกต์ดัดแปลงเข้ากับอัตลักษณ์ของชุมชนได้ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้พบว่าในหลายหมู่บ้าน ยังทอไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ซื้อ ถือเป็นลายผ้ามหัศจรรย์ลายแรกที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน เพราะพระองค์พระราชทานในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พอดี ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องคนไทยก็ลำบากมาก แต่ปรากฏการณ์ที่สำคัญ ภายหลังชาวบ้านช่วยกันทอผ้า ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ออกมาขาย ก็ทำให้เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่าปรากฏการณ์ยอดขายผ้าไทยที่ถล่มทลายมาก ขายดิบขายดี ทำให้มีรายได้หมุนเวียนเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการทอผ้าได้รอดตายจากภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีติยินดีอย่างหาที่สุดมิได้ของพวกเราทุกคน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงลงมาเป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อนการพัฒนายกระดับและส่งเสริมให้ผู้คนได้เห็นคุณค่าของผ้าไทย และพระราชทานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เพราะผ้าไทยนั้นไม่ใช่แค่เครื่องนุ่งห่มที่เรามีไว้เพื่อให้เกิดความสวยงาม แต่ผ้าไทยยังเป็นเครื่องมือในการที่จะพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องในชนบทอีกเป็นล้านครอบครัวให้ได้มีรายได้ที่ดี ซึ่งพระองค์ท่านทรงมุ่งหวังในการที่จะช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ท่านให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยทรงนำองค์ความรู้ทางวิชาการที่ทรงศึกษา ทั้งเรื่องของแฟชั่นสมัยใหม่ ศิลปะ การตลาด มาต่อยอดสิ่งที่สมเด็จย่าของพระองค์ได้พระราชทานไว้ให้กับช่างทอผ้าและคนไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า “ต่อยอดเป็นสิ่งที่ยาก” แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สิ่งมหัศจรรย์จึงได้เกิดขึ้น มีตัวอย่างความสำเร็จ เช่น บ้านดอนกอย ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ที่ภายหลังจากการน้อมนำพระดำริไปเปลี่ยนแปลงวิธีการย้อมผ้าคราม จากครามเข้ม กลายเป็นครามหลายเฉดสี พร้อมพระราชทานชื่อ ดอนกอยโมเดล ทำให้ทุกวันนี้พี่น้องสมาชิกกลุ่มบ้านดอนกอย สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนจากเดิม 700 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มเป็น 10,000 บาทต่อคนต่อเดือน ด้วยทรงแสดงให้เห็นว่าแฟชั่นลายใหม่นั้นทำให้เกิดเป็นที่นิยม เป็นที่ต้องการ สามารถสร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน โดยเริ่มจากให้ผู้ผลิตผ้า ผู้ประกอบการผ้า ออกแบบใส่จินตนาการเพื่อให้เกิดชิ้นงานใหม่ ดังคำว่า ต่อยอดตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำด้วยการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทรงเน้นย้ำสำคัญมาก คือ เรื่องของการใช้สีธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging) รวมถึง สร้าง Story telling และอีกเป้าหมายที่สำคัญอีกประการของพระองค์ท่าน คือ การถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อไปยังคนในชุมชนและขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป

“ทั้งนี้ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสืบสานงานของสมเด็จย่าของพระองค์ท่าน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ในวงการผ้าไทย เกิดมูลค่าหมุนเวียน กว่า 50,000 ล้านบาท เพราะผ้าไทยทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนที่อยู่ภายในประเทศทั้งสิ้น ไม่มีว่าต้องนำเข้า ไม่มีเม็ดเงินกระเด็นออกไปต่างประเทศ ทำให้เงินในระบบเศรษฐกิจไทยได้หมุนกลับไปสู่ชุมชน นอกจากนี้สิ่งที่เห็นได้ชัดอีก คือ การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของรูปแบบ (Pattern) ทั้งลายผ้าต่างๆ ที่พัฒนามาอย่างมากมาย จนเกิดเป็นความนิยม ทุกคนสวมใส่ได้ในทุกโอกาส ซึ่งเป็นเป้าหมายของแนวพระดำริของพระองค์ท่านตามโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ที่มีการ Mix and Match ทำให้วงการผ้าไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างยิ่งใหญ่อีกด้วย“ นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันนี้ เมื่อนายกฯได้ช่วยเป็น Ambassador ผ้าไทย กระทรวงมหาดไทยก็มั่นใจว่า สิ่งที่พี่น้อง OTOP พี่น้องศิลปาชีพดีใจว่าเห็นท่านนายกรัฐมนตรีสวมใส่ ทำให้มีกำลังใจในการที่จะผลิตผ้า ที่จะก่อให้เกิดสิ่งที่ดีในชีวิต มุ่งมั่นทำให้ตนเองและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งตนในนามพี่น้อง OTOP และพี่น้องศิลปาชีพ ขอกราบขอบพระคุณนายกฯและครม.ทุกท่าน ที่ช่วยกันสนับสนุนผ้าไทย เป็นการสนองแนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการที่จะทำให้ผ้าไทย งานหัตถกรรมไทย เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดีอย่างยั่งยืนตลอดไป จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคนมาร่วมกันช่วยชาติบ้านเมือง สวมใส่ผ้าไทยแสดงความรักแผ่นดินสืบสานอนุรักษ์ประเพณีไทย “ผ้าไทย 1 ผืนบนร่างกายของเรา นอกจากจะช่วยเหลือครอบครัวและชุมชน ยังเป็นการสร้างความมั่นคงในเครื่องนุ่งห่ม ช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งไม่เพียงจะทำให้ชาวบ้านในถิ่นชนบทได้มีงานทำ แต่เงินทุกบาททุกสตางค์จะหมุนเวียนในประเทศ และไปช่วยหนุนเสริมให้ลูกหลาน ให้ครอบครัว ให้คนอีกหลายล้านชีวิตที่ต้องใช้ชีวิตอันเกิดจากการถ่ายทอดของบรรพบุรุษเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ สามารถลืมตาอ้าปากได้ มีเงินให้ลูกได้ไปโรงเรียน มีเงินได้ซื้อหาข้าวปลาอาหารไว้รับประทาน สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน พวกเราทุกคนต้องช่วยกันสวมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาสของชีวิตตลอดไป

“และในช่วงเวลาอันใกล้นี้ ประเทศไทยเรากำลังจะมีงานมหกรรมผ้าไหมครั้งสำคัญ และงานมหกรรมรวมสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP ส่งท้ายปี โอกาสนี้ กระทรวงมหาดไทยขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ร่วมงานสำคัญ 2 งาน โดยงานแรก คือ ‘Silk Festival 2023’ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Silk Success Sustainability เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา และเพื่อสร้างการรับรู้ถึงความสำเร็จของการขับเคลื่อนโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ย. – 3 ธ.ค. 66 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี และงานที่ 2 คืองาน Otop City 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-24 ธ.ค. 66 ณ ชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี” นายสุทธิพงษ์ กล่าว.