โดยในยุคนั้นการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนมักถูกผลักดันจากนักเคลื่อนไหวทางสังคม และสิ่งแวดล้อม หรือพวกที่เรียกตัวเองว่า NGO กล่าวหาว่าภาคธุรกิจเห็นแก่กำไรเกินไป และไม่ใส่ใจสังคมกับสิ่งแวดล้อม เมื่อบริษัทต่าง ๆ ขยายกิจการอย่างรวดเร็ว ราคาหลักทรัพย์สูงขึ้นเรื่อย ๆ เงินปันผลให้นักลงทุนจึงเป็นกอบเป็นกำ แต่ในเวลาเดียวกันก็สร้างผลกระทบมหาศาลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงได้สร้างปัญหาสังคมต่าง ๆ ตามมา เช่น การกดขี่แรงงาน การแย่งชิงทรัพยากรกับชุมชน จึงเกิดเสียงเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ มี “ความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ “CSR”

จากนั้นแผนก HR หรือฝ่ายบุคคลในบริษัทต่าง ๆ จึงถูกผู้บริหารสั่งให้เปิดตำแหน่งงานใหม่ ด้วยการเฟ้นหาบุคลากรด้านความรับผิดชอบต่อสังคม โดยที่ยังไม่รู้ด้วยซํ้าว่าจะรับมาทำอะไรบ้าง ตอนนั้นบุคลากรด้านความยั่งยืนจึงเป็นตำแหน่งแค่ เจ้าหน้าที่ หรือดีกว่านั้นก็เป็นผู้จัดการ CSR และถ้าถูกส่งไปอยู่กับฝ่ายสื่อสารองค์กรก็หมายความว่า ผู้บริหารเห็นความยั่งยืนคือการ PR หรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และถ้าถูกส่งไปอยู่ฝ่ายบุคคล หรือ HR ก็หมายความว่าผู้บริหารเห็นความยั่งยืนเป็นกิจกรรมโครงการจิตอาสา กิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ หรือเป็นความยั่งยืนนอกขบวนการธุรกิจ

ผมโชคดีที่ตอนเริ่มงานด้าน CSR ผมได้มีโอกาสทำงานกับบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนที่ลํ้ายุค ที่น่าจะมาก่อนกาลพอสมควร โดยตอนนั้นผมถูกจ้างให้เป็น VP ด้าน CSR & Sustainability เพื่อดูแลงานด้านความยั่งยืนในระดับยุทธศาสตร์ กับมีหน้าที่ช่วยสนับสนุนผู้บริหารในระดับ C Suite ให้พัฒนางานความยั่งยืนในสายงานของแต่ละท่าน เพื่อนำไปรายงานให้กรรมการบริษัทรับทราบตามยุทธศาสตร์องค์กร นอกจากนั้นผมยังทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานช่วยผลักดันขับเคลื่อนการจัดการความยั่งยืนในขบวนการธุรกิจ มาตรฐานความยั่งยืนในขบวนการผลิต และการบริการต่าง ๆ ตลอดห่วงโซ่กิจการ รวมถึงช่วยดูแลเรื่องของความยั่งยืนนอกขบวนการธุรกิจ ตลอดจนโครงการ CSR โครงการจิตอาสา กับการจัดทำข้อมูลรายงานความยั่งยืน

เวลาต่อมาหลังจากที่เริ่มมีตำแหน่ง VP ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่าง ๆ ก็เริ่มเห็นความสำคัญและได้อัปเกรดตำแหน่งงาน CSR จากเจ้าหน้าที่ มาเป็นผู้จัดการ มาเป็นผู้อำนวยการ หรือเป็นถึงรองประธาน ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้จักคำว่า “CSO” หรือ “Chief Sustainable Officer” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “ประธานเจ้าหน้าที่ความยั่งยืน” ซึ่งเมื่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีผู้บริหารระดับสูงดูแลด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะมากขึ้น พวกเราก็รวมตัวกันก่อตั้ง “CSR Club” ขึ้นมา โดยมีสโลแกนว่า Connect for Sharing โดยเรารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และผลักดันให้เรื่องความยั่งยืนเป็นสิ่งที่สำคัญ ด้วยการช่วยเหลือกันในแวดวงธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเดียวกัน รวมถึงขยายไปให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ธุรกิจตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้า ซึ่งการรวมตัวกันของผู้บริหารความยั่งยืนของบริษัทยักษ์ใหญ่ในครั้งนั้น ทำให้ไม่กี่ปีต่อมาประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีตำแหน่งงาน CSR และความยั่งยืนที่ดีที่สุดในอาเซียน

จากวันนั้นถึงวันนี้ 20 ปีผ่านไป ในวันที่ความยั่งยืนถูกผลักดันโดยนักลงทุนและบริษัทชั้นนำ โดยบริษัทไหนไม่มี CSO หรือ Chief Sustainable Officer ถือว่าล้าหลังตกยุคมาก ซึ่งการประชุมระหว่างประเทศในยุคนี้ ที่ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG ไม่ว่าจะเป็นการประชุมต่าง ๆ ของ UN หรือ World Economic Forum หรือเวทีสำคัญอื่น ๆ เราจึงพบว่ามักจะมีวงประชุม CSO ของภาคธุรกิจปรากฏอยู่ด้วยเสมอ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมระดมสมองเพื่อแก้ปัญหาความยั่งยืนของโลกโดยเฉพาะ ซึ่งบทความของ World Economic Forum ในปีนี้ บอกว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ตำแหน่งงานหลาย ๆ ชนิดจะหายไป เพราะจะถูกทดแทนโดย AI แต่ตำแหน่งงาน Top 5 ที่จะมาแรงมากนั้น หนึ่งในนั้นก็คือ สายงานด้านความยั่งยืน ซึ่งน้อง ๆ คนไหนกำลังเลือกสาขาวิชาหรือกำลังเลือกมหาวิทยาลัย อยากให้ลองพิจารณาสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนเรื่องนี้เอาไว้บ้าง เพราะยุคสมัยนี้ ไม่รู้เรื่องนี้ไม่ได้ อีกทั้งตอนที่น้อง ๆ ทุกคนจะต้องไปสัมภาษณ์งาน เจ้าหน้าที่ HR ยุคนี้ก็มักจะถามคำถามต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง SDG, ESG, CSR, SE, CE, Net Zero และอื่น ๆ

ดังนั้นคนที่เรียนสายความยั่งยืนนี้ มีอนาคตในการทำงานที่ดีมาก แต่ก็ต้องมีความรู้กับมีทักษะการทำงาน ตั้งแต่เรื่องของการวางยุทธศาสตร์ การกำหนดแผนงาน หรือแม้แต่รู้วิธีที่จะเกลี้ยกล่อมแหล่งทุน กับต้องสามารถประสานงานกับผู้มีส่วนได้เสียและคู่ขัดแย้งได้ ไปจนถึงการจัดทำรายงานตามมาตรฐานสากล ที่สำคัญคือการร่วมมือกับสื่อมวลชนในการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยอาจจะเรียกได้ว่า ตำแหน่งงานด้านความยั่งยืนนี้ นอกจากจะเป็นตำแหน่งงานที่ทำงานสนุก ได้ช่วยเหลือมวลมนุษยชาติแล้ว เงินเดือนยังสูงอีกด้วย จนได้ข่าวว่า CSO สมัยนี้ค่าตัวแพงมาก ๆ และมีการล่าตัวกันเป็นว่าเล่น ที่สำคัญงานวิจัยในประเทศที่มีความยั่งยืนสูง ต่างระบุตรงกันว่า…

“คนที่เป็น CSO ก็คือ CEO คนต่อไป”.