เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช โฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวในสื่อออนไลน์ กรณีผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งอ้างว่ามีคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ให้นักเรียนติด 0 และนักเรียนไม่ต้องเข้าเรียน ไม่ส่งงาน ขอแค่มีตัวตน หากมาวันสอบแต่ไม่ส่งงานเลย ก็ต้องตัดเกรด 1 นั้น

นางเกศทิพย์ กล่าวว่า จากประเด็นดังกล่าว ข้อเท็จจริง คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้และการสอนซ่อมเสริม โดยมีเจตนากระตุ้นให้สถานศึกษากำกับ ติดตาม ช่วยเหลือ สอนซ่อมเสริมและดำเนินการวัดและประเมินผลกรณีนักเรียนมีผลการเรียนไม่สมบูรณ์ (ติด 0 ร มส) เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งผู้เรียนและผู้สอน เพื่อให้การเรียนดีขึ้น ลดปัญหาของผู้เรียนในการติด 0 ร มส

ส่วนข้อที่ว่า นักเรียนไม่ต้องเข้าเรียน ไม่ส่งงาน ก็ต้องตัดเกรด 1 นั้น ข้อเท็จจริง คือ การที่นักเรียนจะได้รับการตัดสินผลการเรียน ต้องมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1) เวลาเรียน ซึ่งกำหนดให้ผู้เรียนต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียน เป็นการมุ่งหวังให้ผู้สอนมีเวลาในการพัฒนาผู้เรียน และเติมเต็มศักยภาพของผู้เรียน และเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ 2) คะแนนการประเมินระหว่างเรียนและคะแนนปลายปี/ปลายภาค ซึ่งการประเมินผลการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้นั้น เป็นการประเมินความรู้ความสามารถ ทักษะ เจตคติ ทักษะการคิด ที่กำหนดอยู่ในมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การสรุปผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดต่อไป ซึ่งการกำหนดสัดส่วนคะแนนระหว่างเรียนกับคะแนนปลายปี/ปลายภาค ให้ความสำคัญของคะแนนระหว่างเรียนมากกว่าคะแนนปลายปี/ปลายภาค เช่น 60 : 40, 70 : 30, 80 : 20 เป็นต้น

“สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา) ไม่ได้นิ่งนอนใจในประเด็นดังกล่าว และมีความห่วงใยว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนได้ จึงกำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และสถานศึกษาทุกแห่ง เร่งทำความเข้าใจกับนักเรียนและผู้ปกครองได้รับรู้รับทราบข้อเท็จจริง รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบจากประเด็นดังกล่าวได้ และขอให้สาธารณชนมั่นใจว่า สพฐ. จะกำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งผู้เรียนและผู้สอน เป็นไปตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการอย่างแท้จริง” โฆษก สพฐ. กล่าว