เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ชาวบ้านใน อ.เบตง จ.ยะลา ต่างนำไฟฉายส่องสว่าง ถุงพลาสติก ขวดน้ำเปล่า แห่ออกมาจับ “จักจั่น” ที่เกาะตามเสาไฟฟ้าและพุ่มไม้ที่มีแสงไฟในยามค่ำคืน ซึ่งสามารถสร้างรายได้เสริมในช่วงราคายางตกต่ำและสินค้าแพง ซึ่ง 2-3 ปี จะมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่จักจั่นออกมาจากป่าให้ชาวบ้านได้จับ โดยปัจจุบันจักจั่นจะมีน้อยกว่าในปัจจุบัน หากย้อนหลังไป 5–6 ปีที่ยังคงมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์และชาวบ้านยังมีการปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันชาวบ้านใน อ.เบตง กลับโค่นต้นยางหันมาปลูกผลไม้ต่างๆ ที่มีราคา ทำให้จักจั่นมีน้อยมากกว่า 5–6 ปีที่ผ่านมา

ชาวบ้านในพื้นที่ เล่าว่า ก่อนที่ฤดูร้อนจะมาถึงจะเป็นช่วงที่จะพบจักจั่นมากที่สุด โดยจักจั่นจะคลานต้วมเตี้ยมขึ้นมาเหนือพื้นดินและไต่ขึ้นไปเกาะอยู่ตามกิ่งต้นไม้ต่างๆ ก่อนลอกคราบกลายเป็นจักจั่นอย่างสมบูรณ์ โดยจะเกาะอยู่ตามต้นไม้และกินน้ำเลี้ยงของต้นไม้เป็นอาหาร ช่วงที่โตเต็มวัยจะมีระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ซึ่งจะได้ยินเสียงร้องของจักจั่นดังระงมไปทั่วริมถนนเข้าเมืองเบตง

โดยชาวบ้านจะใช้แสงไฟนีออนสีม่วงมาล่อจักจั่นให้มาเล่นไฟ และเลือกจับเฉพาะจักจั่นที่มีตัวสีดำ ท้องสีส้ม ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีเนื้อมีความมันกว่าจักจั่นสายพันธุ์อื่นๆ โดยทำการจับตัวที่บินตกมาตามจุดต่างๆ จับด้วยมือเปล่า และขายจักจั่นตัวเป็นๆ ตัวละ 4-5 บาท และชาวบ้านจะนำไปโพสต์ขายในเฟซบุ๊ก หรือส่งขายตามร้านอาหารต่างๆ ทั้งในพื้นที่ เพราะเป็นของชอบนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและคนต่างพื้นที่ โดยนักท่องเที่ยวที่เดินเที่ยวเมื่อพบก็จะขอซื้อจักจั่นทันที โดยจะเหมาในราคาตัวละ 5-6 บาท ส่วนตัวจักจั่นที่ผ่านการทอดกรอบมาแล้วก็จะคิดตัวละ 5 บาท ซึ่งในแต่ละคืนสามารถจับจักจั่นสร้างรายได้ประมาณ 2,000-2,500 บาทต่อคืนเลยทีเดียว ซึ่งหากเป็นคืนที่มีอากาศเย็นพอดี จักจั่นจะออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงหัวค่ำ

สำหรับ “จักจั่น” สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ทอด คั่ว หมก ยำ แกง และนำมาทำเมี่ยง กินกับข้าว และกับแกล้ม และยังจัดเป็นอาหารยา นอกจากตัวจักจั่นแล้ว คราบนอกของจักจั่น ยังมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการรักษาโรค เมื่อจักจั่นโตเต็มวัย มันจะลอกคราบชั้นนอก คราบจักจั่น หรือ หนังจักจั่น ส่วนผสมหลักในคราบจักจั่นคือ โปรตีน และไคติน ซึ่งเป็นยาแผนโบราณของจีนซึ่งใช้สำหรับแก้หวัด ขับปัสสาวะ ฯลฯ ได้ผลดีมากและเป็นยาชั้นดีอีกด้วย

ส่วนขั้นตอนการนำไปปรุงอาหารก่อนอื่นต้องเด็ดปีกออกแล้วนำไปล้างน้ำสะอาด ประมาณ 2-3 รอบ แล้วนำไปทำเมนู “จักจั่น” ได้ตามความชอบ แต่ที่เมนูชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเบตงชื่นชอบมากที่สุด คือ จักจั่นทอดกรอบ หยอดซอสแม็กกี้ โรยพริกไทย และใบมะกรูด ถือเป็นเมนูเด็ดหาทานยาก