เมื่อวันที่ 25 ก.ย. นายราเชนทร์ บุญทอง ประธานเครือข่ายสถานะบุคคลภาคตะวันตก ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า กรมการปกครอง มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0309.8/ว 21830 ลงวันที่ 7 ก.ย. แจ้งเวียนหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเกือบทั่วประเทศ ให้พิจารณาปรับลดลูกจ้างโครงการกำหนดสถานะบุคคล 217 อัตรา ที่ให้บริการในระดับอำเภอ ที่ทำการปกครองจังหวัด และสำนักทะเบียนกลาง จะถูกปรับลดลง 68 อัตรา เหลือเพียง 149 อัตรา เพราะเหตุว่าถูกสำนักงบประมาณปรับลดงบประมาณที่สนับสนุน และ พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ.2565 จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 โดยให้พิจารณาประเมินผลการทำงานของลูกจ้าง และแจ้งกลับไปกรมการปกครองภายในวันที่ 23 ก.ย.

นายราเชนทร์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับลดจำนวนลูกจ้างลง สิ่งที่การกำหนดสถานะบุคคลภาคตะวันตกประสบปัญหา คือ การได้รับโอกาสที่จะทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีหลายพื้นที่ ที่มีปัจจัยที่เล่าให้ฟังเป็นสาธารณะไม่ได้ ขนาดมีลูกจ้างให้บริการยังทำงานไม่ทัน เมื่อลดจำนวนลูกจ้างลง ไม่อยากเดาว่า จะเกิดอะไรขึ้น ข้อเสนอที่มีคือ การต่อสัญญา หรือการรับลูกจ้างใหม่ ควรมีสอบใหม่ทุกปี เพื่อให้ได้ลูกจ้างที่มีคุณภาพมาให้บริการ

ด้าน นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผอ.มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล (คสบ.) กล่าวว่า การบริการของรัฐมีกำหนดระยะเวลาไว้ ถ้าลดจำนวนลูกจ้าง จะเกิดการร้องเรียน และฟ้องศาลปกครอง ลูกจ้างมีความพร้อมที่จะทำงานเพราะเกินครึ่งเป็นลูกหลานชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่กลับมาให้บริการ ที่เป็นบุคคลสำคัญที่จะทำให้งานเดินได้เป็นอย่างดี เมื่อมองถึงอัตราส่วนการให้บริการก็ไม่สอดรับกับปริมาณของผู้มีสิทธิ ส่วนมุมมองของชาวบ้านที่รอรับบริการ ในบางพื้นที่ไม่เคยมีการเข้าถึงของภาครัฐ ปัจจุบันก็ยังติดขัดอีกมาก

ขณะที่ ผู้แทนของลูกจ้าง แสดงความกังวลกับผู้สื่อข่าว ว่า งานยังคงมีปริมาณมากขึ้น เพราะมีผู้มีสิทธิเพิ่มมากขึ้น แต่ถูกปรับลดบุคลากร จะเกิดอะไรขึ้น ภารกิจหลายอย่างต้องทำตามระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่จากการถูกปรับลดงบประมาณ ลูกจ้างตามโครงการนี้ ยังมีผู้รอรับบริการจำนวนมาก ถ้าไม่มีลูกจ้างกลุ่มนี้ในแต่ละอำเภอจะมีทางออกอย่างไรบ้าง