เมื่อเวลา 16.24 น.วันที่ 24 ม.ค.2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์เสด็จฯ แทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ในปีนี้มีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา (Napoleone Ferrara, M.D.) จากอิตาลี/สหรัฐอเมริกา และสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์แบร์รี่ เอช.รูแมค (Barry H. Rumack, M.D.) จากสหรัฐอเมริกา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ

โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า “… การศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อรักษาโรคใดโรคหนึ่ง หรือรักษาภาวะพิษจากยาชนิดใดชนิดหนึ่งนั้น จำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจถึงพยาธิสภาพ กลไกการเกิดโรคหรือภาวะพิษ รวมทั้งพยาธิสรีรวิทยาของโรคหรือภาวะพิษนั้น ๆ จึงจะสามารถค้นพบวิธีการรักษาโรค และต้านภาวะพิษดังกล่าวได้ ดังเช่นผลงานของศาสตราจาร นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา ที่ได้ค้นพบและสกัดโปรตีนวีอีจีเอฟ ซึ่งเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคมะเร็งหลายชนิดและโรคศูนย์กลางจอตาเสื่อมจากอายุรุนแรงขึ้น นำไปสู่การพัฒนายาต้านโปรตีนวีอีจีเอฟ เพื่อรักษาโรคดังกล่าว กับผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค ที่ได้ศึกษาภาวะพิษจากการกินยาพาราเซตามอลเกินขนาด แล้วประดิษฐ์เครื่องมือประเมินความเสี่ยงอันนำไปสู่การวินิจฉัยและรักษาภาวะพิษจากยาพาราเซตามอลได้อย่างเหมาะสม เป็นประโยชน์แก่สุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความนิยมชื่นชมกับทั้งสองท่านที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 ด้วยผลงานอันเกิดจากความวิริยอุตสาหะ ความเสียสละอดทน และความเมตตาต่อเพื่อนมนุษข์อย่างสูงยิ่งทั้งนี้ …”

จากนั้น เวลา 18.30 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ไปในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ เป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 พร้อมคู่สมรส ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในพระบรมมหาราชวัง

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 สาขาการแพทย์ ศาสตราจารย์ นาโปเลโอเน เฟอร์รารา (Napoleone Ferrara, M.D.) เป็นศาสตราจารย์พิศิษฐ์ ภาควิชาจักษุวิทยาและพยาธิวิทยา รองผู้อำนวยการอาวุโสด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ศูนย์มะเร็งมัวรส์ คณะแพทยศาสตร์ ม.แคลิฟอร์เนียแซนดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย จากสหรัฐอเมริกา/ อิตาลี ในปี พ.ศ.2532 ค้นพบและสกัดโปรตีนที่เร่งการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด หรือ “โปรตีนวีอีจีเอฟ” ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด ศาสตราจารย์นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์ราราได้ทำการศึกษาทั้งในด้านชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุลของโปรตีนวีอีจีเอฟ รวมถึงตัวรับโปรตีนวีอีจีเอฟชนิดต่าง ๆ และกลไกในการกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่ทั้งในภาวะปกติ และภาวะที่เกิดพยาธิสภาพ ที่สำคัญคือโรคมะเร็งบางชนิด และโรคศูนย์กลางจอตาเสื่อมจากอายุ หรือโรคเอเอ็มดี

ผลการศึกษาดังกล่าวของศาสตราจารย์นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา นำไปสู่การพัฒนายาชนิดแอนติบอดีต่อโปรตีนวีอีจีเอฟ ได้แก่ ยาบีวาซิซูแมบ (เอวาสติน) ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะที่มีความรุนแรงร่วมกับมีการสร้างหลอดเลือดอย่างหนาแน่น ได้แก่ มะเร็งสมอง มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งลำไส้ นอกจากนี้ผลงานของศาสตราจารย์นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา ยังได้เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเอเอ็มดี ด้วยผลิตภัณฑ์ยาที่มีองค์ประกอบหลักเป็นส่วนของแอนติบอดี และมีฤทธิ์ต้านการทำงานของโปรตีนวีอีจีเอฟ คือ ยารานิบิซูแมบ (ลูเซนติส) อีกด้วย

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา เผยความรู้สึกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ว่า รู้สึกประหลาดใจมาก ไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีการเสนอชื่อของตัวเองเป็นผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ทำให้ผมเกิดความสนใจเป็นอย่างมาก จึงได้ศึกษาพระราชประวัติเพิ่มเติม พบว่าพระองค์ทรงทุ่มเทอย่างหนักทั้งด้านการแพทย์และงานสาธารณสุข จึงมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับพระราชทานรางวัลนี้ อย่างไรก็ตามจากผลงานดังกล่าว ยังสามารถต่อยอดเรื่องหลอดเลือดวิทยาอีกต่อไปได้ ซึ่งโรคศูนย์กลางจอภาพเสื่อมสภาพไปตามอายุ ได้รับการค้นพบและแก้ไขแล้ว แต่ในทางตรงกันข้าม ก็มีอีกโรคหนึ่งที่เป็นลักษณะของจอภาพมีการฟื้นตัวหรือเพิ่มตัวหลอดเลือดขึ้นมา ซึ่งอันนี้ก็เป็นโรคเช่นเดียวกัน จึงมองแนวทางในอนาคต อยากจะศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ไขรักษาต่อไป

“ปัญหาใหญ่ของนักวิจัย คือ เรื่องเงินทุนที่จะนำมาใช้ในงานวิจัย สำหรับตัวเองแม้จะเคยอุปสรรคเกี่ยวกับงบประมาณบ้าง หากต้องพยายามหาจุดสมดุลและหาผู้สนับสนุนทุนในสิ่งที่ตัวเองค้นคว้าให้ได้ ท้ายที่สุดนักวิจัยต้องมีแรงบันดาลใจในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ต้องมีความชอบและรักในงานที่ทำ” ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2566 กล่าว

ศาสตราจารย์ นายแพทย์แบร์รี่ เอช.รูแมค และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค (Barry H. Rumack, M.D.) จากสหรัฐอเมริกา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขากุมารเวชศาสตร์ และเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ ม.โคโลราโด สหรัฐอเมริกา เริ่มมีความสนใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเภสัชวิทยาและพิษวิทยาของยาพาราเซตามอล ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะตับวายเฉียบพลัน ร้อยละ 40-70 ของผู้ป่วยทั่วโลก โดยรวบรวมกรณีผู้ป่วยภาวะพิษจากยาพาราเซตามอลเกินขนาด 34 กรณี รวมกับกรณีที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ก่อนหน้านั้น 30 กรณี นำมาใช้เป็นข้อมูลสร้างเป็นภาพกราฟ ประดิษฐ์เป็นเครื่องมือประเมินความเสี่ยงและวินิจฉัยผู้ป่วยภาวะพิษจากยาพาราเซตามอลเฉียบพลันที่เรียกว่า “รูแมค-แมทธิว โนโมแกรม” แสดงระดับความเข้มข้นของยาพาราเซตามอลในเลือดและระยะเวลาหลังการกินยาเกินขนาด และบ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อภาวะเป็นพิษต่อตับในผู้ป่วยแต่ละราย

การประยุกต์ใช้เครืองมือนี้ร่วมกับประสิทธิภาพของยาเอ็น อะซิติลซิสเตอีน (N-acetylcysteine) ที่ใช้เป็นยาต้านพิษช่วยลดภาวะตับอักเสบชนิดรุนแรงจากพาราเซตามอลลงอย่างมากจากอุบัติการณ์ ร้อยละ 54เหลือเกือบ 0% และแนวทางการรักษานี้ยังคงใช้ในห้องฉุกเฉินทั่วโลกในปัจจุบัน นอกจากนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค ยังเป็นผู้พัฒนาและบุกเบิกการใช้ Poisindex ซึ่งเป็นฐานข้อมูลดิจิทัลทางด้านพิษวิทยาคลินิก และเป็นฐานข้อมูลมาตรฐานที่ใช้อ้างอิงในการรักษาผู้ป่วยด้วยข้อมูลที่แม่นยำและทันสมัยในโรงพยาบาลและศูนย์พิษวิทยาทั่วโลก อีกด้วย

ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค เผยว่า เมื่อได้รับจดหมายแจ้งว่าตัวเองได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ก็รู้สึกประหลาดใจมาก เพราะการเสนอชื่อครั้งนี้ไม่เคยทราบมาก่อน แต่มีหลายคนในมหาวิทยาลัยโคโรลาโดที่รู้จักรางวัลอันทรงเกียรตินี้ เข้ามาแสดงความยินดีกับตัวเองเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก็เป็นเกียรติที่ได้รับรางวัลนี้ แรงบันดาลใจของการทำงานของตัวเองนั้น เกิดจากความสนใจศึกษาเรื่อง “ทุพโภชนา” ต่อมา ทางองค์การอนามัยโลกได้มอบหมายให้ตัวเอง ค้นคว้าวิจับเรื่องทุพโภชนาการในสถานที่ต่างๆ พบว่ามีเด็กมีภาวะทุพโภชนาการแตกต่างกัน ทั้งหมดจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ศึกษาเรื่องของพิษวิทยา ในปัจจุบัน เริ่มสนใจศึกษาผลของยาตัวอื่นๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย

“แม้งานวิจัยด้านศึกษาภาวะพิษจากการกินยาพาราเซตามอลเกินขนาด แล้วประดิษฐ์เครื่องมือประเมินความเสี่ยงอันนำไปสู่การวินิจฉัยและรักษาภาวะพิษจากยาพาราเซตามอลได้อย่างเหมาะสมจะสัมฤทธิ์ผลด้วยดี แต่ในขณะเดียวกันยังมีปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้คือเรื่องทุพโภชนาการของเด็ก เด็กที่ขาดสารอาหารที่เหมาะสม จะติดเชื้อหรือเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ง่ายการให้ยากับเด็กเหล่านั้นก็ยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะแก้ไขยังไง จำนวนของเด็กที่เสียชีวิตด้วยทุพโภชนาการและภาวะการขาดสารอาหารก็ยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากสถิติ ปี 2018-2021 พบว่ามีเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการมีจำนวน 728 ล้านคนทั่วโลก ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกาและประเทศด้อยพัฒนา หรือแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ขาดโปรตีน รวมทั้งขาดสารอาหารอื่นๆ ที่ช่วยเรื่องพัฒนาการของร่างกาย เช่น กินอาหารจำพวกมันเผือกมากเกินไป” ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 สาขาการสาธารณสุขกล่าว.