ท่อนไม้ที่ถูกตัดอย่างผิดกฎหมาย ถูกนำมาใช้ในโครงการริเริ่ม “Timber Returns Home” ของจังหวัดซันทันเดอร์ สำหรับการสร้างรังผึ้ง นับตั้งแต่ปี 2564 เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงผสมเกสรตัวน้อย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของมนุษย์

ตามข้อมูลของหน่วยงานสิ่งแวดล้อมในจังหวัดซันทันเดอร์ จนถึงขณะนี้ โครงการได้เปลี่ยนไม้ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตร เป็นรังผึ้ง 1,000 รัง และมีการวางแผนสร้างอีก 10,000 รังในเฟสต่อไป

“ก่อนหน้านี้ ท่อนไม้ที่โดนยึด ถูกเปลี่ยนเป็นขี้เลื่อย บริจาคให้กับเทศบาลหลายแห่ง เพื่อใช้ในโครงการต่าง ๆ และบางครั้งก็ถูกปล่อยทิ้งให้เน่าสลายไป แต่ในตอนนี้ มันถูกนำมาใช้ใหม่เพื่อจัดการกับ “ปัญหาร้ายแรงอย่างยิ่ง” นั่นคือ ความเป็นไปได้ที่ผึ้งจะสูญพันธุ์” นายเจอร์มัน เพอริลลา นักชีววิทยา และผู้อำนวยการมูลนิธิ ฮันนี บี อิมแพกต์ กล่าว

ทั้งนี้ ประมาณ 3 ใน 4 ของพืชผลที่ผลิตผลไม้ หรือเมล็ดพืชสำหรับการบริโภคของมนุษย์ ต้องอาศัยการผสมเกสร แต่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เตือนว่า แมลงผสมเกสรในสัดส่วน 40% โดยเฉพาะผึ้งและผีเสื้อ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ทั่วโลก

“ภัยคุกคามหลักคือ ต้นไม้จะหมดไป และมันจะไม่มีดอกไม้ เมื่อไม่มีดอกไม้ ก็จะไม่มีผึ้ง และเมื่อไม่มีผึ้ง เราก็จะไม่มีอาหาร” นางมาเรีย อาเซเวโด ผู้เลี้ยงผึ้งคนหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2565 เพียงปีเดียว เธอสูญเสียรังผึ้งไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งเธอกล่าวโทษยาฆ่าแมลงที่ใช้ในการผลิตพืชผลบริเวณใกล้เคียง เช่น กาแฟ

ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการ โคลอมเบียสูญเสียรังผึ้งประมาณ 3,000 รังต่อปี ซึ่งแต่ละรังมีผึ้งราว 50,000 ตัว อีกทั้งการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ ยังพบร่องรอยของยาฆ่าแมลงที่มีสารฟิโพรนิล ในผึ้งส่วนใหญ่ที่ตายแล้วด้วย

กรณีข้างต้นส่งผลให้ทางการโคลอมเบีย ประกาศแบนสารฟิโพรนิล ตั้งแต่เดือน ก.พ. นี้เป็นต้นไป ซึ่งสารดังกล่าวถูกแบนแล้วในยุโรป และถูกจำกัดการใช้ในสหรัฐและจีน

ด้านองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้น, ภัยแล้ง, อุทกภัย และเหตุการณ์สุดขั้วอื่น ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ลดจำนวนดอกไม้ที่มีน้ำหวาน ตลอดจนส่งผลให้ผึ้งมีภาวะความ เครียดจากความร้อน จนทำให้ประชากรของพวกมันลดลง

อนึ่ง หน่วยงานสิ่งแวดล้อมในจังหวัดซันทันเดอร์ ยึดไม้ที่ถูกตัดอย่างผิดกฎหมายได้ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ในปฏิบัติการต่อต้านการลักลอบค้าไม้เถื่อนในทุกปี ขณะที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมโคลอมเบีย ระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่งของท่อนไม้ทั้งหมดที่ซื้อขายในประเทศ มีแหล่งที่มาผิดกฎหมาย.