เมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 ที่ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ ลงมติกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

จากนั้น เวลา 14.15 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย ทั้งนี้ ก่อนเริ่มอ่าน ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า ศาลรัฐธรรมนูญ รับคดีไว้พิจารณาเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายทราบดีว่าการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวน ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ และการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานได้ทุกประการ ศาลได้ให้ผู้ถูกร้องชี้แจง โดยผู้ถูกร้องขอขยายระยะเวลา 2 ครั้ง ศาลได้ดำเนินกระบวนการพิจารณารวม 62 ครั้ง รับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการ พยานผู้เชี่ยวชาญที่มีความเป็นกลาง 4 ท่าน ได้แก่ 1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี 2. ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ 3.รองศาสตราจารย์ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ 4.รองศาสตราจารย์ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์  

นอกจากนี้ศาลได้รับฟังข้อมูลจากผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลจังหวัดสมุทรปราการ จึงเป็นการไต่สวนรับฟังข้อมูลรอบด้าน และให้คู่กรณีแถลงปิดคดี เมื่อครบถ้วนจึงได้มีคำวินิจฉัย

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยว่านายพิธา ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกล และนายพิธา เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74 

ทั้งนี้ศาลระบุเหตุผลว่า การที่นายพิธา และพรรคก้าวไกลแก้ไขเพิ่มประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการลดทอนความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยซ่อนเร้นด้วยวิธีการหาทางรัฐสภาและการใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง พร้อมกับมีการรณรงค์การแก้ไขอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังผลคะแนนเสียงทางการเมือง  แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายให้สถาบันอยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน

การเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวและการใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงจึงแสดงถึงเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เกิดความทรุดโทรม เสื่อมทราม ซึ่งสามารถนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ ดังนั้นหากยอมให้บุคคลทั้งสองดำเนินการต่อไปก็ไม่ไกลที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำดังกล่าว และเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา การสื่อความหมายอื่นเพื่อให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยกระบวนการนิติบัญญัติที่โดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง

ต่อมาเวลา 15.00 น. ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยตัดสิน นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพระพุทธะอิสระ ได้เดินทางออกจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด ในขณะที่  นายอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)  ให้สัมภาษณ์ว่า การที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกลเสนอนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ในการหาเสียงปี 2566 เป็นพฤติกรรมล้มล้างการปกครอง  จึงสั่งให้ยุติและยกเลิกการกระทำเพื่อแก้ไขมาตรา 112 ว่า วันนี้ตนมาให้กำลังใจ และรับฟังการผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศก็ดีใจพร้อมกับเราที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มาหลายปีไม่เป็นการเสียแรงเปล่า ไม่เสียของ เพราะสามารถพิทักษ์พระมหากษัตริย์ยังคงอยู่กับคนไทย และกฎหมายมาตรา 112 จะปกป้องคุ้มครองพระมหากษัตริย์ของพวกเรา ทั้งนี้หากมีคน หรือกลุ่มที่ไม่พอใจเรื่องนี้แล้วออกมาเคลื่อนไหว สิ่งที่เราจะดำเนินการคือการโต้ด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งเป็นการตอบโต้ที่ดีที่สุด และตั้งแต่ปี 2563 เราดำเนินการแจ้งความหลายคดีแล้ว รวมทั้งนักการเมืองใหญ่ๆ ด้วย เรื่องตอนนี้อยู่ในชั้นศาลดำเนินการโต้ด้วยกระบวนการทางกฎหมายจึงเป็นการตอบโต้ที่ดีที่สุด

เมื่อถามว่า จะสื่อสารอย่างไรเพื่อให้เกิดความสงบสุข กล่าวว่า จริงๆ เราพยายามสื่อสาร เราคุยกันด้วย กฎหมายมาตรา 112 ไม่ได้บังคับให้ใครมาเกลียดหรือมารัก แต่มาตรา 112 ก็อยู่ของเขาเฉยๆ แล้วมีคนไปฝ่าฝืนเอง ต้องเข้าใจตามนี้ ดังนั้นทางเราและกลุ่มที่ปกป้องสถาบันหลายๆ กลุ่มก็ยังดำเนินการปกป้องมาตรา 112 และสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไป.