เพื่อหารือกันในการกำหนดทิศทางของอนาคต ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 54 แล้ว โดยมีผู้นำโลกเข้าร่วมเกือบ 3,000 คน เป็นผู้นำจากภาคธุรกิจราว 1,600 คน เป็นผู้นำประเทศต่าง ๆ อีกราว 350 คน และที่เหลือเป็นนักวิชาการกับนักขับเคลื่อนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และที่น่าดีใจสำหรับปีนี้ คือมีผู้นำสตรีจากทั่วโลกร่วมงานถึง 800 คน หรือเกือบ 1 ใน 3 สำหรับในปีนี้มีประเด็นอะไรที่กวนใจผู้นำเศรษฐกิจโลก จะยังคงเป็นเรื่องภาวะโลกเดือดอยู่หรือไม่?

ในขณะที่ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงสำคัญต่อเนื่องกันมาหลายปี และได้พัฒนาแนวทางในการขับเคลื่อน ที่กลายเป็นนโยบายและมาตรฐานใหม่ ๆ ไปแล้วหลายเรื่องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด การลดคาร์บอนในการดำเนินกิจการ แนวทางการชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ รวมถึงการเงินการลงทุนทุนสีเขียว ซึ่งต้องคำนึงถึงมาตรฐาน ESG สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล แต่ปีนี้สิ่งแวดล้อมเสียงไม่ดังเหมือนปีที่ผ่านมา และที่น่าแปลกใจ คือมีวิกฤติใหม่ที่ผู้นำโลกกังวลใจมากกว่าเรื่องภาวะโลกเดือด โดยเป็นเรื่องที่พูดคุยกันเกือบทุกเวที นั่นก็คือเรื่อง AI และสงคราม ซึ่งน่าจะเป็น 2 ประเด็นใหญ่ที่สุดที่จะสั่นคลอนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

1.วิกฤติ AI แม้ปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้การทำงานของมนุษย์ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่มีงานวิจัยของ World Economic Forum บอกว่าในอีก 2 ปี ตำแหน่งงานในโลกจะหายไป 1 ใน 3 จากการถูก AI ทดแทน ซึ่งหมายถึงราว 85 ล้านตำแหน่งงาน แล้วมนุษย์จะไปทำอะไร ผู้คนที่ตกงานจำนวนมากจะขาดรายได้ จะเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และจะสร้างปัญหาทางสังคมมากมาย รวมถึงมาตรฐานการใช้งาน AI ที่ในแต่ละประเทศยังไม่มี จนทำให้เกิดความปั่นป่วนในวงการต่าง ๆ ทั้งเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

2.วิกฤติสงคราม ความคุกรุ่นของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกากับจีน สงครามที่ต่อเนื่องยาวนานของรัสเซียกับยูเครน สงครามที่เพิ่งจะเริ่มของอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ยังไม่นับรวมอีกหลายสมรภูมิที่กำลังคุกรุ่น ที่อาจจะเกิดสงครามใหม่ ๆ ลุกลามสู่สงครามโลกได้ ผลของความขัดแย้งต่าง ๆ เหล่านี้ นอกจากสร้างความสูญเสียทางมนุษยธรรมแล้ว ยังสร้างปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจ เช่น ราคาพลังงาน ราคาอาหาร การขาดแคลนสินค้าและบริการต่าง ๆ และตอนนี้ยังลุกลามไปยังเรื่องการจัดส่งสินค้ากับระบบโลจิสติกส์ของโลก ที่กำลังปั่นป่วนอย่างหนัก

แล้ว World Economic Forum ปีนี้ต้องการระดมความคิดเรื่องอะไร? ปีนี้ผู้จัดอยากให้ผู้นำที่มาที่ Davos ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดว่า “เราจะกู้คืนวิกฤติศรัทธาเรื่องความเชื่อมั่นและความไว้วางใจซึ่งกันและกันให้กลับคืนมาได้อย่างไร?” เพื่อทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างยั่งยืน…Rebuilding Trust

แล้วเหล่าผู้นำจะกู้วิกฤติความเชื่อมั่นด้านใดบ้าง?

1.กู้คืนความเชื่อมั่นด้านสันติภาพและความมั่นคงของโลก การร่วมมือกันเพื่อสงบศึกให้โลกใบนี้กลับมาปรองดองกัน เราต้องช่วยกันสร้างความมั่นใจว่า จะไม่เกิดสงครามโลกและความขัดแย้งที่รุนแรงกว่านี้ เราต้องลดความเหลื่อมลํ้าและหาทางแบ่งปันการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ลดการแข่งขันที่รุนแรง ปรับเปลี่ยนเป็นความร่วมมือ และแบ่งปันผลประโยชน์ที่เหมาะสมระหว่างผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ

2.กู้คืนความเชื่อมั่นเรื่องการใช้ AI เพื่อสร้างเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน เมื่อเราคลางแคลงใจว่าเทคโนโลยีและ AI จะมาแทนที่มนุษย์ และเป็นภัยคุกคาม เราต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าเรามีวิธีที่จะนำ AI มาสร้างประโยชน์เชิงบวก และสามารถควบคุมผลกระทบเชิงลบได้ ต้องเร่งการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เร็วขึ้นด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้ ด้วยการกำหนดมาตรฐานและมาตรการใหม่ ๆ เกี่ยวกับ AI ร่วมกัน

3.กู้คืนความเชื่อมั่นด้านการเติบโตของเศรษฐกิจโลก สร้างตำแหน่งงานใหม่ ๆ สำหรับอนาคต ถึงแม้เรารู้ว่าเทคโนโลยีและ AI จะมาแทนการทำงานของมนุษย์ แต่เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ว่ามีตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่มนุษย์มีศักยภาพและสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า AI และเราต้องเร่งปรับปรุงการศึกษาพัฒนาทักษะใหม่ ๆ สร้างตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมี เพื่อให้เศรษฐกิจโลกหลัง Covid-19 กลับมาเติบโตได้ดีอย่างยั่งยืน

4.กู้คืนความเชื่อมั่นว่าเราจะร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อการปกป้องธรรมชาติของโลกใบนี้ เราต้องสร้างความเชื่อมั่นในความร่วมมือ ต้องมียุทธศาสตร์ มีแผนงาน มีตัวชี้วัดร่วมของโลก และมีคำมั่นสัญญาจากผู้นำว่าทุกคนจะเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่แค่ประชาสัมพันธ์สร้างภาพเพื่อหาเสียง หรือฟอกเขียวเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

เราหวังว่า ผู้นำโลกทั้ง 3,000 คน ซึ่งนั่งคุยกันที่ Davos ท่ามกลางเทือกเขาแอลป์ที่ปกคลุมด้วยหิมะที่ผู้คนกล่าวขานกันว่าเป็น “เทือกเขาแห่งมนต์วิเศษ” จะถูกมนต์สะกดของขุนเขาและได้เติมพลังวิเศษนั้นให้พวกเขามีความเชื่อมั่น เอาจริงเอาจัง และมีพลังกลับไปสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้คนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ รวมถึงท่านนายกรัฐมนตรี และผู้นำนักธุรกิจของไทย อีกหลายท่านที่กลับมาแล้ว พร้อมที่จะนำการ “Rebuilding Trust” กันอย่างจริงจังหรือยัง?.