เด็กหญิง ฉ. : คุณหมอมาร์คคะ ห้องนํ้าที่โรงเรียนของหนู สกปรกมาก นํ้ารั่ว เฉอะแฉะตลอดเวลา มีกลิ่นเหม็น แถมประตูปิดไม่ได้ ต้องใช้มือดึงไว้ วัน ๆ หนูต้องอั้นไว้ ไม่อยากเข้าห้องนํ้าเลย เห็นข่าวผลสำรวจออกมาแล้ว แต่ยังไม่เห็นกระทรวงศึกษาธิการทำอะไรเลย วันเด็กปีหน้าคงจะมาถามใหม่ หนูไม่อยากรอ คุณหมอมาร์คมีคำแนะนำไหมคะ?

คุณหมอมาร์ค : น้อง ฉ. คะ เรื่องห้องนํ้าสกปรก เป็นปัญหาคลาสสิก เวลานัก CSR ของบริษัทต่าง ๆ ไปสำรวจโรงเรียน ปัญหาที่เจอมากที่สุดคือ สภาพห้องนํ้าสกปรกขาดสุขภาวะ ห้องครัวโรงเรียนขาดสุขอนามัย มีความเสี่ยงต่ออาหารเป็นพิษ และต่อมาคือ สภาพห้องเรียนไม่เหมาะสมกับการเรียนรู้ และเราก็มักสงสัยเสมอว่านักเรียนทนกันได้อย่างไร คุณครู และ ผอ.โรงเรียนท่านใส่ใจแค่ไหน ห้องนํ้าคุณครูกับห้องนํ้านักเรียนสภาพต่างกันหรือไม่ และกระทรวงศึกษาธิการดูแลมาตรฐานของห้องนํ้าโรงเรียนอย่างไร ที่แน่ ๆ หมอทราบว่าห้องนํ้าที่กระทรวงศึกษาธิการสะอาดเป็นต้นแบบได้ ถ้าปฏิรูปสุขอนามัยของห้องนํ้าไม่ได้แล้ว จะปฏิรูปการศึกษาที่ใหญ่กว่านั้นได้อย่างไร

น้อง ฉ. คะ อย่าเพิ่งท้อใจ ลองเริ่มจากสิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ ก่อน อย่างแรกลองดูที่โรงเรียนว่าห้องนํ้าคุณครูกับห้องนํ้านักเรียนสภาพต่างกันมากไหม ถ้าห้องนํ้าของคุณครูสะอาดมีมาตรฐาน ก็ลองเจรจาขออนุญาตใช้ดูนะค่ะ หวังว่าคุณครูของน้อง ฉ. คงจะเข้าใจเรื่องความเหลื่อมลํ้า และไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง ต่อมาลองชักชวนเพื่อน ๆ และคุณครูมาทำสิ่งที่ทำกันเองได้ เช่น ทำความสะอาด ซ่อมแซมก๊อกนํ้า ซ่อมกลอนประตู และอุปกรณ์ที่พังให้กลับมาใช้ได้ดังเดิม อาจจะขอแรงภารโรง หรือผู้ปกครองของน้อง ๆ ที่เป็นช่างมาช่วยกันทำก็ได้ ชวนคุณครูศิลปะมาทำกิจกรรม painting ให้สวยไปเลย วิชาช่างและวิทยาศาสตร์ก็ลองติดตั้งพัดลมระบายอากาศ หรือไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ถือเป็นการฝึกฝนนวัตกรรม เมื่อทำความสะอาดดีแล้ว ก็ฝึกฝนวิชาหน้าที่พลเมืองต่อเลย ตอนหมอเด็ก ๆ คุณครูมักจะสอนว่า “ทุกครั้งที่เข้าห้องนํ้า เมื่อเสร็จกิจ ก่อนออกจากห้องนํ้าต้องดูแลให้สะอาดเท่าเดิม หรือสะอาดกว่าเสมอ” เป็นการฝึกความรับผิดชอบต่อสังคมจนเป็นนิสัย

บางครั้งการปรับปรุงห้องนํ้าต้องใช้งบประมาณ ก็มาช่วยกันระดมทุน เช่น ทำกองทุนจากธนาคารขยะรีไซเคิล หรือทำสิ่งประดิษฐ์ง่าย ๆ จากห้องเรียนไปขายผู้ปกครอง เป็นต้น หรืออีกทางหนึ่ง ลองสำรวจดูว่าในรัศมี 5 กิโลเมตร มีโรงงาน มีกิจการของบริษัทไหน เค้ามีกิจกรรม CSR ที่สนใจมาบริจาค หรือมาทำกิจกรรมจิตอาสาปรับปรุงโรงเรียนได้บ้าง และสำหรับโรงเรียนที่อยู่ใกล้วัด ก็ลองหารือกับท่านเจ้าอาวาสดู ท่านอาจจะมีวิธีช่วยระดมทุน หรือจะลองเขียนจดหมายเรียนปรึกษาท่านรัฐมนตรีก็ได้ เพราะท่านบอกว่าเราจะ “จับมือกันไว้ แล้วไปด้วยกัน” และเมื่อผลวิจัยบอกว่า สุขาคือวิกฤติศรัทธาอันดับ 1 แล้วกระทรวงศึกษาจะมีแนวทางปฏิรูปห้องนํ้าอย่างไร?.