เมื่อวันที่ 19 ก.พ.67 นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ที่ปรึกษา รมช.ต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูต โพสต์ข้อมูลลงในเพจทูตนอกแถว The Alternative Ambassador Returns ว่า “โอกาสทองของไทยด้านการต่างประเทศ”

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ด้านการต่างประเทศของไทยมึความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักพอสมควร ทั้งการไปและการมาเยือนของประเทศต่างๆ ที่มีจำนวนมากมายจนถ้าเอามาเล่าจารนัยหมดทุกเรื่องคงจะยืดยาวมาก

เอาเป็นสรุปว่าการดำเนินการด้านการต่างประเทศของไทยในขณะนี้ ได้เริ่มนำไทยหวนกลับคืนสู่จอเรดาร์ของโลกอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยเปิดประตูความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ให้เพิ่มพูนตามมา โดยเฉพาะด้านการเศรษฐกิจ ที่เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการลงนามความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับศรีลังกา ในระหว่างการเยือนประเทศดังกล่าวของผู้นำไทย (นายเศรษฐา ทวีสิน) โดยคาดว่าภายในปีนึ้จะมีการลงนามความตกลงเช่นนี้กับอีกหลายประเทศตามมา ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันทางการค้าของไทยในเวทีโลกให้มากยิ่งขึ้น

แต่ถ้าถามผม สิ่งที่ทำให้เห็นว่าไทยเริ่มหวนคืนสู่จอเรดาร์โลกแล้วนั้น เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เป็นข่าวในวงกว้างมากนัก แต่เป็นที่จับตาของผู้สนใจด้านการต่างประเทศ นั่นคือการพบปะหารือระหว่างนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน กับนาย Jake Sullivan ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ที่กรุงเทพ เมื่อปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ที่มันสำคัญเพราะนี่คือการพบปะกันของตัวแทนของสองมหาอำนาจโลก โดยเขาเลือกประเทศไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายน่าจะมีความรู้สึกสะดวกใจที่สุดในการมาพบเพื่อหารือกัน

แน่นอนว่าไทยมีความสนิทสนมกับจีนในทุกด้านจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน และโดยเฉพาะช่วงสิบปีที่ผ่านมา ที่ไทยต้องพึ่งจีนมากในขณะเดียวกันไทยเป็นพันมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชียที่มีการทำสนธิสัญญาไมตรีระหว่างกันที่มีอายุใกล้ครบสองร้อยปี และโดยที่ปัจจุบันไทยกลับมาเป็นประชาธิปไตยแล้ว จึงทำให้สหรัฐฯ หันมาใกล้ชิดสนิทใจได้ใหม่ ซึ่งนับว่ามีน้อยประเทศในโลกที่มีคุณลักษณะและความสัมพันธ์พิเศษทั้งกับจีนและสหรัฐฯ ดังเช่นไทย

จะว่าไปแล้ว การที่ไทยกลับมาเป็นประชาธิปไตยนั้น น่าจะเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย ซึ่งสำหรับสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกทั้งหลายนั้น ย่อมแน่นอนอยู่แล้ว ด้วยเหตุผลทางด้านอุดมการณ์ทางการเมือง แต่กับจีนเองก็น่าจะมีประโยชน์มากกว่าเดิมด้วย ในแง่การเป็นมิตรของจีนที่สามารถช่วยเป็นตัวกลาง ที่เชื่อมประสานกับทั้งอาเซียน ตลอดจนประเทศตะวันตก ในประเด็นที่สำคัญต่อจีน เช่น เรื่องทะเลจีนใต้ ซึ่งไทยไม่ได้เป็นคู่พิพาทกับใคร หรือมีข้อเรียกร้องในบริเวณขัดแย้งดังกล่าว

โดยไทยอาจใช้จังหวะและคุณลักษณะนี้ เพื่อมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในการช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้งระหว่างกันได้ ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย-และในจังหวะนี้เอง ปัญหาสำคัญของภูมิภาคนี้ที่ไทยสามารถมีบทบาทช่วยแก้ไขได้โดยตรงคือความขัดแย้งในเมียนมา ซึ่งด้วยเงื่อนไขต่างๆ ณ เวลานี้ ไทยน่าจะเป็นตัวกลางที่ดีที่สุดที่จะช่วยประสานให้ทุกฝ่ายในเมียนมาหันหน้ามาเจรจา เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยไทยน่าจะสามารถดึงทั้งจีนและสหรัฐฯ ที่เป็นผู้เล่นและตัวแปรสำคัญให้เข้ามาร่วมกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างจริงจังในที่สุด

การมองภาพใหญ่ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะช่วยตีโจทย์ในการดำเนินการ การทูตเชิงรุกในเรื่องนี้ของไทย นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญของภูมิภาค ที่จะช่วยให้ภูมิภาคนี้กลับมาเป็นจุดดึงดูดการค้าการลงทุนใหม่ เพื่อความผาสุขมั่งคั่งร่วมกันแล้ว ยังจะทำให้ไทยมีบทบาทโดดเด่นในเวทีโลกอย่างยิ่งด้วย บัดนี้โอกาสทองด้านการต่างประเทศของไทยอยู่แค่เอื้อมก็เหลือแต่ว่าจะสามารถเอื้อมคว้าไว้ได้มากน้อยเท่าไหร่แค่นั้น

เพื่อน