เมื่อวันที่ 20 ก.พ. นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. รุกล้ำแนวเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ ว่า เรื่องนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะยังไม่มีการยกเลิกแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตอุทยานฯ การที่ ส.ป.ก. เข้าไปทำ เป็นการดำเนินการโดยพลการ ซึ่งการปฏิรูปที่ดินต่างๆ มีระเบียบแบบแผนวางเอาไว้หมด คุณประกาศทับมาทั่วทั้งจังหวัด อันไหนเป็นสถานที่ราชการ บ้านเรือนประชาชน มีโฉนด เป็นพื้นที่ครอบครอง คุณต้องกันออกให้เขาหมด กันออกเรียบร้อยแล้ว คุณถึงจะประกาศราชกฤษฎีกาเป็นชุดๆ ไป ส่วนอุทยานฯ เขาก็มีพระราชกฤษฎีกา ตราบใดคุณยังไม่เพิกถอนแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกา เขาก็ต้องรักษากฎหมายอุทยานฯ เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว จริงๆ ในการลงนามเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. เขาจะให้ผู้ว่าฯ หรือรองผู้ว่าฯ ลงนามแทน แต่กรณีนี้ คนลงนามคือ ส.ป.ก.จังหวัด เป็นผู้ลงนามแทน ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้สามารถไปแจ้งความดำเนินคดี ส.ป.ก.จังหวัดได้เลย ไม่ต้องรอแล้ว

“ถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เขาเรียกไปลักหลับ นี่มันชัดเจน ที่อื่นยังมีกำนันผู้ใหญ่บ้านไปเซ็นรับรองเป็นที่ว่างเปล่าหรือที่ป่า เขาก็ยังจับเลย แต่นี่เป็นที่ที่กำนันผู้ใหญ่บ้านไม่รับรอง ยังชี้ว่าเป็นป่า แล้วยังกล้าดื้อดึงไปทำโดยพลการ โดยที่ไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม ก็รู้ว่าเป็นเขตเขาใหญ่ ไม่รู้ได้อย่างไร จะบอกไม่รู้ไม่เห็นได้อย่างไร คุณมีแผนที่ของคุณ แต่มันไปทับเขาใหญ่ คุณก็ต้องประสานอุทยานฯ เขาใหญ่ ว่าเรามีการประกาศเขตปฏิรูปขอให้กันออกได้หรือไม่ และเป็นหน้าที่ของกรมอุทยานฯ ต้องตอบโต้ว่าตรงนี้เป็นพื้นที่อุทยานฯ และชี้แจงไปว่ามันออกไม่ได้ ก็ว่ากันไป ประชุมหารือกันไป แต่นี่ไปลักหลับไปทำโดยที่ไม่มีใครรู้เรื่อง และทำแบบลุกลี้ลุกลน ไปปักหมุด ปักเขตกัน มันเป็นไปอย่างไร เขามีแนวเขตไว้อยู่แล้ว และการถอนเป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ หัวหน้าอุทยานฯ เขาทำได้อยู่แล้ว” นายดำรง กล่าว

นายดำรงค์ กล่าวต่อว่า กรณีนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี และเต็มไปหมดในเวลานี้ เพราะหวังจะออกเป็นโฉนดเกษตรกรรม พวกนี้ในอนาคต ซึ่งไม่รู้ว่ารัฐบาลข้างหน้าใครจะมาเป็น แต่สุดท้ายจะเหมือนที่ดินนิคมสร้างตัวเอง ที่สุดท้ายก็ออกเป็นโฉนดในที่สุด คราวนี้เขาก็จะใช้นอมินีชาวบ้านยากจนมาครอบครองไว้ก่อนเวลาโอนแล้วก็ซื้อขายกันต่อ แต่ราษฎรที่มาทำตรงนี้ ปรากฏว่าเป็นชาวบ้านตำบลอื่น ไม่ใช่ตำบลหมูสี เป็นคนจากที่อื่นลอยมาอย่างไรก็ไม่รู้ เป็นเกษตรกรแท้จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ เอาต้นกล้ามะม่วงมาลง ต้นละ 400-500 บาท ชาวบ้านจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อ ปลูกไปสัตว์ป่า ช้างป่า ก็มากินหมด ไม่มีเหลือแน่ เพราะเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า

ดำรงค์ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่ผู้มีอำนาจว่ากล้าทำหรือไม่ ทำแบบหักด้ามเลย เพิกถอนแนวเขตอุทยานฯ เลย อย่างทับลานยังมีปัญหาสลับซับซ้อนมากกว่าเขาใหญ่ ว่ามีทั้งเขต ส.ป.ก. หรือไม่ใช่ ส.ป.ก. หรือพื้นที่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ก็แก้ไขกันไปอีกเรื่องหนึ่ง แต่เขาใหญ่ชัดเจนว่าเป็นพื้นที่อุทยานฯ กำนันผู้ใหญ่บ้านยืนยันเป็นเขตป่ากันหมด มีเส้นทางตรวจการป้องกันเรียบร้อย คือถ้าหากเอาไปให้คนจนทำกินมันไม่มีปัญหาอะไร มี คทช. รองรับอยู่แล้ว ให้เป็นพื้นที่ทำกินแปลงใหญ่ซื้อขายไม่ได้ แต่นี่ไปทำกันรายย่อย ๆ แล้วคนออก ส.ป.ก. ตนดูรายชื่อก็ซ้ำไปซ้ำมา ต้องไปสืบดีๆ ว่าเบื้องหลังชาวบ้านเป็นใคร จึงลักไก่มาออกแบบนี้ ยืนยันว่ามันออกเอกสารสิทธิไม่ได้ ไปถึงศาลก็ติดคุก ตนทายได้เลย

ด้านนายประวัติศาสตร์ จันทรเทพ หัวหน้าอุทยานฯ ทับลาน กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ครั้งแรกในการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ในพื้นที่อุทยานฯ ในส่วนของอุทยานฯ ทับลาน เกิดปัญหานี้มานาน และมีการดำเนินคดีไปแล้ว ซึ่งที่เป็นข่าวใหญ่คือกรณีรีสอร์ทการ์มองเต้ ซึ่งในขณะนั้นอัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่เราไม่ยอม และได้ทำเรื่องเสนอกรมอุทยานฯ ให้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดว่าเหตุใดจึงสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งเป็นเพราะเขาอ้างว่าเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบตอนนี้อัยการสูงสุดสั่งให้นำเรื่องกลับมาพิจารณาฟ้องใหม่แล้ว นอกจากนั้น อุทยานฯ ทับลาน ยังได้เตรียมข้อมูลการออก ส.ป.ก. ในพื้นที่อุทยานฯ เพื่อยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. โดยได้รับแบบฟอร์มจากนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานฯ แล้ว เพื่อเป็นการสำทับว่าพ ฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ชุดนี้ มันไม่ใช่ครั้งแรก เพราะอุทยานฯ ทับลาน เคยดำเนินคดีกับ ส.ป.ก. จ.นครราชสีมา มาแล้ว ซึ่งแทบจะเป็นชุดเดียวกันกับกรณีเขาใหญ่ เพียงแต่คนเซ็นชื่อเปลี่ยนกันบ้างส่วนในขบวนการแทบจะเรียกว่าเป็นชุดเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ทราบว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับรีสอร์ทการ์มองเต้ ที่เคยโดนโยกย้ายไปนั้น ถูกย้ายไปเพียงไม่กี่เดือน สุดท้ายก็ได้กลับมาที่เดิมแล้ว

นายประวัติศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับอุทยานฯ ทับลาน ที่ผ่านมามีการใช้กลไกของ คทช. ในการแก้ปัญหาพื้นที่ ซึ่งในส่วนของอุทยานฯ ทับลาน คัดค้านมาตลอดว่า เห็นควรแก้ปัญหาโดยใช้กฎหมายอุทยานฯ 2562 ซึ่งสามารถอนุญาตให้ชาวบ้านทำกินในพื้นที่ได้ แต่ยืนยันว่า ในส่วนคดีบุกรุกที่ดำเนินคดีไปแล้ว หรือพบการก่อสร้าง อะไรที่ไม่ถูกต้องเราดำเนินคดีใหม่ทันที เพราะหนึ่งในมติ ครม. ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่า ห้ามนำเรื่องการแก้ปัญหา คทช. มายุ่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นคดีเหล่านี้เกิดตั้งแต่ปี 2554-2555 จึงย้อนเวลาไม่ได้ เพราะตอนนั้นคุณกระทำผิดกฎหมาย แต่แปลงคดีเหล่านี้ เขาก็พยายามซื้อเวลา จึงเป็นเรื่องลำบากของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องเป็นพยานในศาล ลำบากอัยการที่จะต้องมาคอยถกเถียงกับบุคคลเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการผลักดันเรื่องนี้ โดยอ้างราษฎร แต่จริงๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ถูกดำเนินคดีไปแล้ว เพราะชาวบ้านสามารถทำกินในพื้นที่ได้โดยไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่น่ากลัวคือเครื่องมือที่เอาไปให้ ส.ป.ก. ดำเนินการ ซึ่งในอนาคตจะออกเป็นโฉนดได้หรือไม่ และหากถึงตอนนั้น ที่ดินจะตกอยู่กับใคร สุดท้ายชาวบ้านก็ยังจนเหมือนเดิมเพราะขายที่ดินไป หรือเขาเอามาเป็นนอมินีให้เท่านั้นเอง

“ในกระบวนการฟ้องศาลปกครอง มันไม่มีแพ้ เพราะพื้นที่อุทยานฯ ป่าสงวนฯ ก็ผิดกฎหมายชัดเจนอยู่แล้ว ถ้าคุณอยู่โดยไม่มีเอกสารรับรองก็คือผิดแต่แรก คุณจะไปเอา ส.ป.ก. มาทีหลัง ซึ่งจริงๆ ก็คล้ายๆ เขาใหญ่ แต่เขาใหญ่มันโจ่งแจ้ง น่าเกลียดตรงที่ว่าคุณไปให้ในพื้นที่ป่า แต่ทับลานคุณไปให้ในพื้นที่ที่มันเป็นแปลงคดี ซึ่งก็น่าเกลียดเหมือนกัน แต่ความรู้สึกอาจจะต่างกัน เพราะสภาพพื้นที่มันเป็นที่ทำกิน แต่ผืนดินตัวที่ดินตามข้อกฎหมาย มันคือพื้นที่ของคนทั้งประเทศ เป็นพื้นที่อุทยานฯ ในอุทยานฯ ทับลาน มีพื้นที่ที่อ้างว่าเป็น ส.ป.ก. 8,000 ไร่ เป็นพื้นที่ที่บวมออกมา จากที่มันทับซ้อนพื้นที่ประกาศ ส.ป.ก. กับป่าวังน้ำเขียวอยู่ 5 หมื่นกว่าไร่ ถ้าใช้หลักการวันแม็พที่ถูกต้อง ตรงนี้โอเค ว่าอาจจะต้องเพิกถอนให้ ส.ป.ก. ไป ซึ่ง ส.ป.ก. ก็ออก 4-01 ในพื้นที่นี้ไปแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2525 หลังประกาศเขตอุทยานฯ แต่ในส่วนของ 8,000 ไร่ คือมันเลยออกมาอีก เข้ามาในเขตอุทยานฯ และป่าสงวนฯ อีกแห่ง ซึ่งกำลังรวบรวมเอกสารที่เราพบแล้ว โรงแรม รีสอร์ท ที่ถูกดำเนินคดี เพิ่งไปขอออก ส.ป.ก. เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมานี่เอง เราได้มาสัก 6-7 แปลง เป็น ส.ป.ก.4-01 ตอนนี้เรารวบรวมและทำรายงานเข้าไปที่กรมอุทยานฯ ซึ่ง ผอ.สำนักอุทยานฯ สั่งการให้รายงานให้ ถ้าเกิดเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันกับเขาใหญ่ ก็จะได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ในคราวเดียวกัน” นายประวัติศาสตร์ กล่าว

นายประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ทั้งนี้เชื่อว่าทั้ง 8,000 ไร่ มีการขอออก ส.ป.ก.4-01 ไปหมดแล้ว เผลอๆ เป็นหลายร้อยใบ หรือกี่ใบก็ยังไม่รู้ เป็นการดำเนินการหลังจากที่อุทยานฯ ทับลาน จับกุมดำเนินคดี ซึ่งทราบว่าเขาเพิ่งมาเริ่มกระบวนการออก ส.ป.ก. เมื่อปี 2559 มีการเดินสำรวจต่างๆ โดยเราได้แจ้งความดำเนินคดีไปอีกเมื่อปี 2560 แต่ตอนนี้เชื่อว่าออกเป็น 4-01 ไปหมดแล้ว เพราะเขาอ้างว่าเป็นพื้นที่ดำเนินการของเขา แต่เป็นการเข้ามาดำเนินการโดยไม่ตรวจสอบ และไม่สนว่าเป็นพื้นที่ป่าหรือไม่.