เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่โรงพยาบาลนครพนม จัดงานส่งมอบศูนย์หัวใจสองฝั่งโขง ONE MAN AND THE RIVER ห้องปฏิบัติการส่วนหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลนครพนม ตามรายการบริจาคว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขง/ONE MAN AND THE RIVER หนึ่งคนว่าย หลายคนให้


นายนฤพนธ์ ยุทธเกษมสันต์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพนม กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเปิดประเทศจะมีผู้เดินทางมาเยือนจังหวัดนครพนมเพิ่มขึ้น จากทั้งภาคเศรษฐกิจ ภาคการท่องเที่ยวและภาคการแพทย์และสุขภาพ ในด้านสาธารณสุข จังหวัดนครพนมได้ดำเนินการรองรับผู้สูงอายุ มีประชากรสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์และสุขภาพในจังหวัดนครพนม ปี 2563 เราให้บริการผู้ป่วยนอก 320,210 ครั้ง ผู้ป่วยใน 27,992 ครั้ง คาดว่าการเปิดประเทศจะมีประชากรต่างชาติ เดินทางเข้ามารักษาจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันยังเป็นปัญหาหลักในพื้นที่ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นการก่อตั้งศูนย์หัวใจสองฝั่งโขงโรงพยาบาลนครพนม จะช่วยให้ผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute coronary syndrome) ในจังหวัดนครพนม และพื้นที่ข้างเคียงได้อย่างรวดเร็วตามมาตรฐานการรักษา เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและทุพพลภาพ โดยในส่วนของโรงพยาบาลนครพนมนั้นได้ดำเนินการยื่นเรื่องไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในเดือนเมษายนและระหว่างที่เรากำลังพัฒนาบุคลากรให้ด้านนี้ให้มากขึ้น เราได้ทีมศูนย์หัวใจเพื่อแผ่นดินจากโรงพยาบาลสกลนครมาช่วยก่อน

ด้าน โตโน่ กล่าวว่า “พวกเราทั้งพี่น้องชาวไทยและพี่น้องชาว สปป.ลาวได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลนครพนม และโรงพยาบาลแขวงคำม่วน โดยมูลค่าสิ่งของที่เราจัดซื้อไปทั้งหมดคิดเป็น 92,500,000 บาท วันนี้ถือเป็นวันที่ดีมากๆ อีกวันที่เรามาร่วมกันเป็นสักขีพยานในการปิดโครงการ เพื่อส่งสอบ “ศูนย์หัวใจสองฝั่งโขง”(Cath Lab) ที่ใช้เวลากว่า 6 เดือนในการจัดตั้งศูนย์หัวใจแห่งนี้ เริ่มตั้งแต่การทำห้องสวนหัวใจใหม่ที่มีระบบความปลอดภัยจากอันตรายจากรังสีต่างๆ รวมถึงการทำระบบไฟฟ้าสำรองที่สามารถตรวจรักษาผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง แม้ระบบไฟฟ้าจะดับทั้งเมืองนครพนม นอกจากนี้ยังมีการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์อื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับใช้ในห้องตรวจรักษาแบบครบครัน ได้แก่ เครื่องสวนหัวใจระนาบเดี่ยว, เครื่องอัลตราซาวด์หัวใจ, เครื่องอัลตราซาวด์ชนิดดูเส้นเลือดหัวใจ, เครื่องตรวจวัดการแข็งตัวของเลือด, เครื่องปั๊มหัวใจไฟฟ้า, เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ พร้อมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้เพื่อให้วิเคราะห์การตรวจรักษาได้อย่างแม่นยำ ปัจจุบันเราทราบว่าทั้งสองโรงพยาบาลได้ใช้เครื่องมือแพทย์ที่ได้รับบริจาคจากโครงการหนึ่งคนว่ายหลายคนให้ อย่างคุ้มค่า เช่น โรงพยาบาลนครพนมมีการใช้งานเครื่องต่างๆ ทุกวัน ขณะที่โรงพยาบาลแขวงคำม่วนได้ใช้ตรวจรักษาคนลาวไปแล้วกว่า 12,000 คน ผมรู้สึกดีใจที่พวกเราได้มีส่วนร่วมทำให้พี่น้องชาวไทยและชาว สปป.ลาว ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงโรงพยาบาลแห่งนี้ได้เข้าถึงการตรวจรักษาที่ทันสมัย เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สุดท้ายนี้ผมขอบพระคุณทุกๆ ท่านที่มีส่วนในการทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงตามเจตนาที่ได้ตั้งใจไว้”
………………..

เอกสารประกอบ
โรงพยาบาลนครพนม ได้เครื่องมือแพทย์ 11 รายการ ดังนี้

  1. ศูนย์ปฏิบัติการสวนหัวใจ 1 ศูนย์ ที่โครงการได้จัดซื้ออุปกรณ์ครบครัน ประกอบด้วย
  • เครื่องสวนหัวใจระนาบเดี่ยว
  • เครื่องอัลตราซาวด์หัวใจ 
  • เครื่องอัลตราซาวด์ชนิดดูเส้นเลือดหัวใจ
  • เครื่องตรวจวัดการแข็งตัวของเลือด 
  • เครื่องปั๊มหัวใจไฟฟ้า
  • เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ
  • ระบบ IT ต่างๆ เพื่อให้การวิเคราะห์แม่นยำ 
  • งบประมาณเพื่อปรับปรุงสถานให้รองรับการใช้งาน
  1. เครื่องช่วยหายใจสำหรับเด็กชนิดความถี่สูงพร้อมชนิดควบคุมแรงดันและชนิดไม่สอดใส่ท่อ 1 เครื่อง สำหรับ PICU (ห้องไอซียูเด็ก)
  2. เครื่องเฝ้าติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ Monitor NIBP 1 เครื่อง สำหรับ PICU (ห้องไอซียูเด็ก)
  3. เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตรและแรงดันพร้อมระบบหย่าเครื่องอัตโนมัติ ขนาดกลาง จำนวน 5 เครื่อง
  4. เครื่องควบคุมการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ 20 เครื่อง
  5. เตียงผู้ป่วยสำหรับไอซียูปรับด้วยไฟฟ้า 3 Motor 12 เตียง
  6. เตียงผู้ป่วยสำหรับไอซียูปรับด้วยไฟฟ้าชนิด 4 motor ชนิดชนิดที่ชั่งน้ำหนักได้ 2 เตียง
  7. เตียงผู้ป่วยสำหรับไอซียูปรับด้วยไฟฟ้าชนิด 4 motor จำนวน 3 เตียง
  8. เตียงสำหรับผู้ป่วยควบคุมด้วยรีโมตคอนโทรลที่นอนโฟม (Stroke) 12 เตียง
  9. เครื่องอัลตราซาวด์หัวใจ 1 เครื่อง
  10. เครื่องวัดความดันโลหิต 5 เครื่อง

โรงพยาบาลแขวงคำม่วน ได้เครื่องมือแพทย์ 20 รายการ ดังนี้

  1. เครื่องช่วยหายใจเด็ก ชนิด nCPAP จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องช่วยหายใจสำหรับทารกที่มีภาวะหายใจลำบาก ภาวะหยุดหายใจ หรือหลังจากถอดท่อช่วยหายใจทางหลอดลม เพื่อช่วยให้ทารกหายใจเหนื่อยน้อยลง 
  2. เครื่องเฝ้าติดตามสัญญาณชีพชนิดข้างเตียงผู้ป่วย Bedside Monitor ที่สามารถติดตามภาวะการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต จำนวน 5 เครื่องเพื่อติดตั้งในห้อง ICU 
  3. เครื่องกระตุกหัวใจ AED จำนวน 3 เครื่อง เพื่อติดตั้งในห้องฉุกเฉิน รถกู้ชีพ 
  4. เครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติพร้อมขาตั้ง 12 เครื่อง เพื่อติดตามอาการคนไข้ในแผนกและวอร์ดผู้ป่วยในต่างๆ
  5. เครื่องวัดความดันชนิดสอดแขนจำนวน 3 เครื่อง เพื่อใช้แผนก OPD, ผู้ป่วยฉุกเฉิน
  6. เครื่องดึงคอ/ดึงหลัง (traction) จำนวน 1 เครื่อง สำหรับแผนกกายภาพบำบัดที่ปัญหาด้านกระดูกคอและสันหลัง
  7. เครื่องอัลตราซาวด์สำหรับกายภาพ จำนวน 2 เครื่อง แผนกกายภาพบำบัดเพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านกล้ามเนื้อ
  8. หม้อต้มแผ่นประคบร้อน จำนวน 1 เครื่อง (แผนกกายภาพบำบัด)
  9. Infant Incubator 2 เครื่อง
  10. Radian Warmer 2 เครื่อง
  11. Surgical Light (อยู่ระหว่างการขนส่ง)
  12. Infusion Pump 5 เครื่อง
  13. Syringe Pump 5 เครื่อง
  14. ชุดกล้องส่องตรวจและผ่าตัดโพรงจมูกและทอนซิล ENT Diagnostic Set 1 ชุด
  15. เครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง 1 เครื่อง
  16. ULTRASOUND 4 มิติ แผนกสูติ 1 เครื่อง
  17. เครื่องวัดการบีบตัวของมดลูก ครรภ์แฝด 1 ชุด
  18. ชุดกล้องส่องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่พร้อมเครื่องล้างกล้องส่องตรวจ 1 เซต
  19. อุปกรณ์ผ่าตัดสมอง (เครื่องเจาะและตัดกะโหลกชนิดความเร็วสูง)
  20. Autocave เครื่องนึ่งฆ่าเชื้อขนาด 280 ลิตร