หลังจากวันที่ 1 มี.ค. วันแรกที่มีผลปรับขึ้นค่าราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี ปรับขึ้นอีก 1 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ส่งผลให้ราคาก๊าซฯ ที่ประชาชนใช้ถัง 15 กิโลกรัม (กก.) ปรับขึ้นอีก 15 บาท ต่อถัง หรือปรับขึ้นเป็น 423 บาทต่อถัง 15 กก. มีผลตั้งแต่ 1-31 มี.ค. 66 ทางสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว ได้แสดงความกังวล ประชาชนผู้มีได้น้อยบางส่วน อาจนำถังก๊าซแอลพีจี ไปเติมในปั๊มแอลพีจี เนื่องจากไม่ต้องซื้อก๊าซเต็มถัง 423 บาท อาจจ่ายแค่ 100-200 บาทต่อครั้ง จึงต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลในเรื่องดังกล่าว

น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า การลักลอบเติมก๊าซแอลพีจี ลงถังก๊าซหุงต้มในสถานีบริการก๊าซแอลพีจี เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดชัดเจนว่า ไม่ให้มีการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวลงในถังก๊าซปิโตรเลียมเหลวหุงต้มภายในสถานีบริการ ซึ่งแต่ละพื้นที่ต้องมีป้ายข้อความห้ามบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวลงในถังก๊าซหุงต้ม หากฝ่าฝืนมีความผิด แสดงไว้บริเวณตู้จ่าย โดยการกระทำผิดดังกล่าว จะมีโทษตาม พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 มาตรา 66 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 3 โดยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 7 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และยังทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในสถานีบริการทั้งในระหว่างการเติมก๊าซ และการนำไปใช้ด้วย ซึ่งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กวดขันและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการสถานีบริการทราบแล้ว

นายนรุตม์ ภัทรชัยพร นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว กล่าวว่า ต้องการให้ภาครัฐเร่งดูแล เนื่องจากปั๊มแอลพีจีบางแห่งยังทำให้อยู่ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยระเบียบกำหนดไว้ชัดว่า ปั๊มแอลพีจี จะต้องเติมให้กับถังแอลพีจี สำหรับรถยนต์เท่านั้น และที่สำคัญวิธีการดังกล่าวไม่ปลอดภัยและเป็นอันตรายต่อผู้ไปเติมและปั๊มเองด้วย เพราะถังดังกล่าวอาจจะไม่ได้ถูกเวียนนำไปบำรุงรักษา ส่วนการขึ้นราคาวันที่ 1 มี.ค. ร้านค้าได้รับทราบล่วงหน้าและเตรียมปรับขึ้นราคาแล้ว ซึ่งราคา 423 บาทต่อถังนั้น เป็นราคาแนะนำในพื้นที่ กทม. แต่ราคาในพื้นที่อื่นๆ จะแตกต่างกันไปโดยจะต้องบวกกับค่าขนส่งที่ขึ้นอยู่กับระยะทาง รวมถึงการขนขึ้นตึกสูงที่จะเป็นการตกลงกับผู้บริโภค ยอมรับว่า ปัจจุบันค่าการตลาดของผู้ค้าแอลพีจี ส่วนใหญ่ที่เป็นร้านค้ารายย่อยนั้นไม่ได้สูงนัก ขณะที่ต้นทุนต่างๆ ยังคงเพิ่มขึ้นมากทั้ง ค่าแรง ค่าน้ำมัน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามกฏหมายใหม่ที่รัฐกำหนด เช่น ต้องติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงด้วยน้ำแบบอัตโนมัติ เพื่อความปลอดภัย

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แนวโน้มราคาก๊าซแอลพีจีงวดใหม่ หลังวันที่ 31 มี.ค. คาดว่า คณะกรรมบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะประชุมวันที่ 7 มี.ค. นี้ เบื้องต้นหากพิจารณาฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว ปัจจุบัน ณ วันที่ 26 ก.พ. 66 ยังคงติดลบอยู่สูง 104,012 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีแอลพีจี ติดลบ 46,095 ล้านบาท และบัญชีน้ำมันติดลบ 57,917 ล้านบาท ต้องรอนโยบายจากนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะประธาน กบง. จะพิจารณาให้ปรับขึ้นหรือคงราคาไว้หรือไม่ อย่างไร ตามความเหมาะสมควรให้ขึ้นราคา อาจจะ กก.ละ 1 บาทเช่นเดิม เพราะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบสูงมาก และรับไม่ไหวแล้ว จริงๆ ต้องการให้ขึ้นมากกว่า กก.ละ 1 บาท แต่ทราบดีว่า กระทบกับประชาชน

“ถ้ากองทุนฯ ไม่ติดลบเยอะ เราก็ไม่อยากขึ้นอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีเงินแล้ว จังหวะนี้หากเก็บเงินคืนได้ ก็ควรเก็บก่อน เพราะหากการเมืองใหม่มา เดี๋ยวก็ต้องปรับลดราคาตามนโยบายที่หาเสียง ดังนั้นอาจจะขึ้น กก.ละ 1 บาทไปก่อน ก็ไม่น่าเกลียด และตอนนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูที่ราคาแอลพีจีแพง จึงควรรีบเอาเงินคืนมาก่อน”