หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้เปิดรายงานนโยบายการเงิน มีความเห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่เห็นด้วยถึงการผ่อนเกณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV ตามที่ภาคอสังหาริมทรัพย์เรียกร้องผ่านกระทรวงการคลัง เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ได้จากการกระตุ้นการซื้อขายในระยะสั้น

เดิมมาตรการ LTV ได้กำหนดวงเงินกู้และวงเงินดาวน์เอาไว้ เพื่อป้องกันการเก็งกำไรตลาดที่อยู่อาศัย แต่ช่วงที่ผ่านมา แบงก์ชาติได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) เป็นการชั่วคราว

มาตรการ LTV ที่ได้รับการผ่อนปรนเกณฑ์ที่ใช้มาก่อนหน้านี้ คือ

1. กำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เป็น 100% (กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (รวมสินเชื่ออื่นนอกเหนือจากเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและมีที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลักประกันหรือสินเชื่อ Top-up แล้ว) ทั้งกรณี (1) มูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป และ (2) กรณีมูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 เป็นต้นไป

2. การผ่อนคลายนี้ให้เป็นการชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคา 2566 จนถึงปัจจุบัน เกณฑ์ LTV กลับมาอยู่ตามเดิม

สำหรับเกณฑ์สินเชื่อบ้าน LTV ในปัจจุบัน หลังจากหมดมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์แล้ว ดังนี้

ราคาบ้าน ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
– สัญญาที่ 1 กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน 100% และกู้เพิ่มได้ 10% เพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งบ้าน หรือสิ่งจำเป็นอื่นๆ ในการเข้าอยู่อาศัย
– สัญญาที่ 2 กู้ได้ 90% ของมูลค่าหลักประกัน วางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 10% เมื่อผ่อนบ้านหลังแรกมากกว่า 2 ปี/หากผ่อนบ้านหลังแรกไม่ถึง 2 ปี สามารถกู้ได้ 80% ของมูลค่าหลักประกัน และต้องวางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 20%
– สัญญาที่ 3 ขึ้นไป กู้ได้ 70% ของมูลค่าหลักประกัน วางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 30%

ราคาบ้าน มากกว่า 10 ล้านบาท
– สัญญาที่ 1 กู้ได้ 90% ของมูลค่าหลักประกัน วางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 10%
– สัญญาที่ 2 กู้ได้ 80% ของมูลค่าหลักประกัน วางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 20%
– สัญญาที่ 3 ขึ้นไป กู้ได้ 70% ของมูลค่าหลักประกัน วางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 30%