สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ว่า ชุดเอกสารจากบริษัท ไอ-ซูน (I-Soon) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาเอกชนที่แข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาจ้างของรัฐบาลจีน แสดงให้เห็นว่า กลุ่มแฮกเกอร์ของบริษัท โจมตีรัฐบาลมากกว่า 12 แห่ง ตามข้อมูลของบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ “เซ็นทิเนลแล็บส์” และ “มัลแวร์ไบต์ส”

ทีมนักวิจัยของเซ็นทิเนลแล็บส์ ระบุเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า ไอ-ซูน ยังเจาะเข้า “องค์กรประชาธิปไตย” ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง, มหาวิทยาลัยหลายแห่ง และพันธมิตรทางทหารขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) โดยข้อมูลที่รั่วไหลดังกล่าว มีรายละเอียดเป็นรูปธรรมที่สุด ซึ่งเปิดเผยต่อสาธารณชน สิ่งนี้เผยให้เห็นถึงการพัฒนาของระบบนิเวศการจารกรรมทางไซเบอร์ของจีน

ขณะที่มัลแวร์ไบต์ส โพสต์แยกต่างหากในวันเดียวกันว่า ไอ-ซูน สามารถเจาะข้อมูลหน่วยงานของรัฐในอินเดีย, ไทย, เวียดนาม เกาหลีใต้ และประเทศอื่น ๆ อีกมากมาย

อนึ่ง บริการที่ไอ-ซูน เสนอให้กับลูกค้า มีตั้งแต่การเจาะเข้าไปในบัญชีของบุคคลแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ “เอ็กซ์” เพื่อติดตามกิจกรรมของพวกเขา, อ่านข้อความส่วนตัว และส่งโพสต์ ไปจนถึงการเข้าถึงและควบคุมคอมพิวเตอร์ส่วนตัวจากระยะไกล และการแฮกระบบปฏิบัติการในสมาร์ตโฟน ตลอดจนการใช้ฮาร์ดแวร์ที่ปรับแต่งเอง เช่น พาวเวอร์แบงก์ ในการดึงข้อมูลจากอุปกรณ์ และส่งไปยังกลุ่มแฮกเกอร์

“นอกจากนี้ ไอ-ซูน ยังระบุชื่อเป้าหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ซึ่งบริษัทเคยแฮกก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันความสามารถของพวกเขา ในการปฏิบัติงานเหล่านี้ รวมถึงการมุ่งเป้าไปที่ ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายในปากีสถาน และอัฟกานิสถาน” นักวิเคราะห์ของเซ็นทิเนลแล็บส์ กล่าวเพิ่มเติม.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES