เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) สรุปภาพรวมสถานการณ์โควิดประเทศไทยพบติดเชื้อรายใหม่ 24,592 ราย, ผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,161,241 ราย, หายป่วยเพิ่ม 742,953 ราย, ผู้ป่วยกำลังรักษาตัว 226,151 ราย, อาการหนัก 1,312 ราย, ใส่เครื่องช่วยหายใจ 435 ราย, เสียเพิ่ม 68 ราย, ชีวิตสะสม 23,643 ราย

สำหรับพื้นที่ 10 อันดับที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดได้แก่กรุงเทพมหานคร 2,985 ราย, ชลบุรี 1,203 ราย, นครศรีธรรมราช 1,148 ราย, สมุทรปราการ 986 ราย, นนทบุรี 969 ราย, สมุทรสาคร 707 ราย, ปทุมธานี 707 ราย, พระนครศรีอยุธยา 675 ราย, สงขลา 619 ราย และนครปฐม 614 ราย

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษภายในงานประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 22 ของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ศูนย์การประชุมเมืองทองธานี ช่วงหนึ่งระบุว่า การระบาดของเชื้อโควิดเป็นโอกาสใหญ่ที่ทำให้มีหลายอย่างปรับตัว ประเทศไทยมีสิ่งที่หลายประเทศไม่มี คือ อสม. 1,040,000 คน เป็นกำลังสำคัญเป็นระบบรากหญ้าดูแลประชาชน 1 ต่อ 60 ประชากร มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กว่า 10,000 แห่ง ครบทุกตำบล มีโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 798 แห่ง มีโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 96 แห่ง ทั่วประเทศอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข

นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลสังกัดอื่นที่พอเกิดวิกฤติโควิด-19 ทุกหน่วยงานเข้ามาร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียว ขณะเดียวกันมีระบบสุขภาพ 3 กองทุน คือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ครอบคลุมคนไทย 99% ทั้งหมดทำให้ระบบสุขภาพไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก หลายประเทศยกไทยเป็นตัวอย่าง

นพ.ปิยะสกล เสนอว่า สิ่งเหล่านี้เป็นระบบที่ถูกวางเอาไว้ตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า แต่จากนี้อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนบางอย่างให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะสิ่งที่วางไว้ในอดีต เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น อย่างเช่น 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งเหมาะสมกับช่วงเวลานั้นแต่อาจไม่เหมาะสมกับช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นระยะที่เราต้องเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคไม่ให้คนเจ็บป่วย ไม่เช่นนั้นเติมเงินเข้าไปเท่าไหร่ก็คงไม่พอ จึงต้องเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2030 ซึ่งประเทศไทยก็เข้าร่วมด้วย โดยมีข้อกำหนดหลายข้อ แต่หลักการคือเน้นสร้างสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีหัวใจหลักคือการมีสุขภาพดีจึงจะสามารถพัฒนาประเทศต่อไปได้.