สืบเนื่องจากการร่วมกันฟื้นฟูต้นจามจุรีต้นไม้ใหญ่ที่มีคุณค่าภายในสวนสาธารณะใจกลางเมืองสวนเบญจกิติ โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ และภาคเอกชน โดยบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และคณะผู้จัดงาน Sustainability Expo 2023 ที่มีเป้าหมายดูแลสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เล็งเห็นความสำคัญการรักษาพื้นที่สีเขียวกลางกรุง โดยที่ผ่านมาลงพื้นที่ร่วมขับเคลื่อนพื้นฟูต้นจามจุรีหลังพบมีปัญหาเรื่องความแข็งแรง
การฟื้นฟูต้นจามจุรีภายในสวนเบญจกิติ มีจุดเริ่มต้นจากที่รุกขกรเห็นความผิดปกติของต้นจามจุรี ลักษณะใบสีเหลืองซีด ใบมีขนาดเล็กและร่วงหล่นจํานวนมาก ปลายกิ่งอ่อนมีกิ่งแห้งกิ่งตายเยอะ ทางสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานครจึงประสานกับผู้เชี่ยวชาญจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ (กลุ่ม Big Three) สมาคมรุกขกรรมไทยและอาสาสมัครที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางไม้ใหญ่สํารวจต้นไม้มีปัญหาสุขภาพอย่างไร ซึ่งพบว่าปัญหาหลักมาจากรากผุ มีราขึ้นและบริเวณรากมีดินบดอัดแน่น
สันนิษฐานว่าเป็นสาเหตุที่ทําให้ต้นจามจุรีอ่อนแอจึงวางแนวทางการรักษาฟื้นฟูต้นจามจุรีบริเวณ Skywalk จํานวน 4 ต้นที่มีอาการวิกฤติที่สุดก่อนโดยการปรับสภาพ ด้วยการปรับความสูงของดิน กําจัดโรคและแมลง ขุดพรวนดินบริเวณรอบต้น นําดินที่กดทับบริเวณเหนือคอรากออก พร้อมรดนํ้าผสมฮอร์โมนเร่งราก และทําท่อระบายอากาศให้รากพืช บริเวณรอบต้นจามจุรีขุดดิน และขนวัสดุปรับปรุงดินมาใส่ทดแทน รวมถึงการนําเสียมลมมาใช้ในการพรวนขุดเจาะดิน ลดการบดอัดของดินที่แน่นเกินไปและถมสูงเกินไปทําให้รากไม้ขาดอากาศ แล้วใส่กิ่งไม้สับรอบบริเวณโคนต้น เพื่อเพิ่มความร่วนซุยและความชุ่มชื่นให้กับดิน พร้อมทั้งมีการตัดแต่งปลายกิ่ง ปรากฏว่าต้นไม้แตกใบใหม่ นับเป็นการบูรณาการการทํางานร่วมกัน พัฒนาพื้นที่สีเขียวดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมือง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในเมือง
หลังการฟื้นฟูต้นจามจุรีที่ผ่านมานับแต่กลางปี 2566 ได้มีการมอบป้ายต้นจามจุรีอย่างเป็นทางการ โดย ชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การฟื้นฟูต้นจามจุรีครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญมีองค์ความรู้เรื่องนี้เข้ามาสำรวจจนพบว่าต้นไม้มีปัญหาสุขภาพ และวางแนวทางการรักษา ฟื้นฟูทำให้ต้นไม้มีความแข็งแรงและเติบโตขึ้นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ทางด้าน อรยา สูตะบุตร กรรมการมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ กล่าวเพิ่มว่า มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ทำตอนนี้คือ การติดอุปกรณ์ที่เรียกว่า Tree tag ติดตามสุขภาพของต้นไม้ว่าเติบโตเป็นอย่างไร เพราะบางครั้งเราดูตาเปล่าอาจไม่เห็นความผิดปกติ อุปกรณ์นี้จะบอกอัตราการเจริญเติบโต การเพิ่มของเนื้อไม้ ความชื้นที่ได้รับและหากมีความผิดปกติอะไรก็จะทราบทันที ทำให้สามารถรักษาดูแลได้ทันท่วงที
ขณะที่ ต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และผู้อำนวยการคณะจัดงาน Sustainability Expo กล่าวปิดท้ายว่า เราให้ความสำคัญการมีพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะพื้นที่ในสวนเบญจกิติแห่งนี้ การร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมงานนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ต้นจามจุรีเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 100 ปีฟื้นคืนกลับมาแข็งแรง กลับมาเป็นปอดของคนเมือง เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในเมืองต่อไป.