เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ซึ่งเร็วกว่าในปีที่ผ่านมา และปกติใน กทม. เดือน ก.พ. จะมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ราว 34 องศาเซลเซียส พอเดือน มี.ค. ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 35 องศาเซลเซียส และพอถึงเดือน เม.ย. ช่วงสงกรานต์ อุณหภูมิก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 36 องศาเซลเซียส แต่ปีนี้แค่เดือน ก.พ. ก็รู้สึกเหมือนจะ 40 องศาเซลเซียสแล้ว

สำหรับคนที่อยู่ในห้องแอร์ทั้งวัน ในเวลากลางวันคงจะไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แต่ผมได้พูดคุยกับคนที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น คนงานก่อสร้าง โดยเฉพาะช่างมุงหลังคา เขาบอกว่าร้อนเหมือนอยู่กลางกองไฟเลย ส่วนเกษตรกรก็บอกว่าร้อนมาก แถมแล้งด้วย ต้นไม้พืชพรรณแห้งตายไปจำนวนมาก ขณะที่ชาวประมงบอกว่านํ้าทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาก น่าจะมาจากผลกระทบของ El Nino และนอกจากนํ้าทะเลในเขตศูนย์สูตรจะร้อนขึ้นแล้ว ช่วงนี้ยังจับปลาได้ยากขึ้น จนต้องออกทะเลไปในที่ลึกมาก ๆ

ส่วนนักกีฬากลางแจ้ง เรารู้สึกได้ถึงความร้อนที่ระอุขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้เหงื่อออกมาก และหมดแรงเร็วกว่าปกติ และสิ่งที่ต้องระมัดระวังที่สุดคือ Heat Stroke ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างฉับพลัน ดังนั้น การดื่มนํ้าบ่อย ๆ และใช้ผ้าเย็นลดอุณหภูมิ จะช่วยทุเลาและลดความเสี่ยงได้ ซึ่งถ้าเรายังปล่อยคาร์บอนกันแบบนี้ไปเรื่อย ๆ อีกไม่นานกลางวันเราก็คงใช้ชีวิตกลางแจ้งไม่ได้เลย แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง เราสามารถทำได้ ดังนี้…

1. เพิ่มพื้นที่สีเขียวในบ้าสำหรับบ้านพักอาศัย การปลูกต้นไม้ใหญ่ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ จะช่วยบังแดดบ่าย และลดความร้อนของบ้านลงได้ แค่เลือกตำแหน่งและทรงพุ่มให้เหมาะสม เพื่อให้ได้ร่มเงาและโปร่งพอที่จะมีช่องให้ลมพัดผ่านได้

2. การปรับปรุงบ้านเพื่อลดความร้อน ลองหาทางเพิ่มความยาวของชายคา เพื่อเพิ่มร่มเงา ใส่ฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา และฝ้าเพดาน รวมทั้งเพิ่มฉนวนกันความร้อน หรือทำผนังสองชั้นตรงผนังด้านทิศใต้ และทิศตะวันตก พร้อมทั้งติดฟิล์มกรองแสง กันความร้อนและ UV ที่กระจกในบริเวณนั้นด้วย นอกจากนี้อาจจะเพิ่มระแนงไม้เลื้อย หรือสวนแนวตั้งในบริเวณที่รับแดดบ่ายด้วยก็ได้

3. ช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน ช่วยกันปลูกต้นไม้ใหญ่ เพิ่มพื้นที่สวน เพิ่มพื้นที่เก็บนํ้า เช่น ขุดบ่อ ขุดสระ นํ้าจะช่วยลดอุณหภูมิ และยังเป็นพื้นที่เก็บนํ้าไว้ใช้รดนํ้าต้นไม้ได้ด้วย

4. ต้องไม่ปลดปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโดยไม่จำเป็น โดยนอกจากการปรับตัวให้สู้กับความร้อนแล้ว เรามีหน้าที่นี้ที่ต้องช่วยกัน โดยนักวิทยาศาสตร์บอกว่าแต่ละคนต้องไม่ปล่อยคาร์บอนเกินคนละ 2 ตันต่อปี ซึ่งคนเมืองแบบเรามีค่าเฉลี่ยการปล่อยคาร์บอนราว 10 ตันต่อคนต่อปี ซึ่งเราต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตโดยด่วน เช่น ลดการใช้พลังงาน ลดการเดินทางที่ปลดปล่อยคาร์บอนสูง เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ จักรยาน หรือเดิน ลดการซื้อของใหม่ไม่จำเป็น และใช้ชีวิตแบบ Minimal รวมทั้งเลือกกินอาหารที่มาจากพืชมากกว่าเนื้อสัตว์ เป็นต้น

5. ช่วยกันรณรงค์ให้เพื่อนตระหนักถึงอนาคตที่วิกฤติจากภาวะโลกเดือด และช่วยกันเรียกร้องผลักดันให้เกิดนโยบายใหม่ ๆ ที่เร่ง Net Zero เพื่อลดภาวะโลกเดือด และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ทั้งนี้ ในระหว่างที่โลกของเราร้อนขึ้นเรื่อย ๆ อุณหภูมิที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างกลางแจ้งและในร่มเงา บนท้องถนน เราจะเห็นมอเตอร์ไซค์จอดรอไฟแดงใต้เงาสะพานลอยมากกว่าในเส้นจราจรที่เตรียมไว้ให้ เราจะเห็นผู้คนแย่งชิงที่จอดรถใต้ร่มเงาของต้นไม้หรือใต้เงาตึก เมื่อร่มเงามีคุณประโยชน์ และมีความหมายกับผู้คนอย่างมาก ถึงเวลาหรือยังที่เราจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทั้งแนวราบและแนวตั้ง เพื่อเพิ่มร่มเงารอบ ๆ ตัวเรา และที่สำคัญเราอยากได้ “พื้นที่สีเขียว” ให้เป็นวาระแห่งชาติ และแห่งโลกใบนี้.