สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศร้อน มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เตือนผู้ปลูกมะเขือเทศ ในทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคที่มีสาเหตุจากไวรัส
1. โรคใบหงิกเหลือง
ใบยอดและใบอ่อน หดย่นหงิกมีสีเหลือง ขอบใบม้วนงอ ยอดเป็นพุ่ม ใบที่แตกใหม่มีขนาดเล็ก ต้นแคระแกร็น ทำให้มะเขือเทศไม่ติดผลหรือติดผลน้อยมาก
2. โรคใบด่างเรียวเล็ก
ใบแสดงอาการด่างสีเขียวเข้มสลับสีเขียวอ่อน ม้วนงอ ต่อมาใบเรียวเล็กกว่าปกติ ถ้าอาการรุนแรงมาก ใบจะเรียวเล็กเหลือแต่เส้นกลางใบ มะเขือเทศจะชะงักการเจริญเติบโต ไม่ติดผล หรือผลมีขนาดเล็ก ถ้าเกิดโรคตั้งแต่ระยะกล้า จะทำให้ต้นแคระแกร็น ไม่ติดผล
3. โรคใบด่าง
ใบแสดงอาการด่างสีเขียวเข้มสลับสีเขียวอ่อนหรือสีเหลือง บางครั้งใบอ่อนหดย่นเป็นคลื่นและมีขนาดเล็กกว่าปกติ ใบที่อยู่ส่วนยอดหรือปลายกิ่งอาจบิดเป็นเกลียว มะเขือเทศชะงักการเจริญเติบโต ทำให้ติดผลน้อย ผลอาจเกิดอาการด่าง ถ้าเกิดโรคในระยะกล้า ต้นจะแคระแกร็น ใบมีขนาดเล็กและลดรูป
4. โรคใบด่างจุดวงแหวนเนื้อเยื่อตาย
ใบปรากฏแผลเนื้อเยื่อตายสีน้ำตาลเข้มหรือดำ กระจายทั่วทั้งใบ หรือเกิดรอยด่างสีเหลือง ใบยอดด่างและยอดสั้น ใบอ่อนจะแห้งตายจากปลายใบเข้าหาโคนใบ ใบแก่มีสีเหลืองและขนาดเล็กกว่าปกติ
ลำต้นและก้านใบมีรอยขีดสีน้ำตาลเข้มหรือดำตามแนวยาวของลำต้นและก้านใบ มะเขือเทศชะงักการเจริญเติบโต ผลเสียรูปทรง ที่ผิวของผลจะพบอาการเนื้อเยื่อตายเป็นวง ถ้าอาการรุนแรง กิ่งและลำต้นจะเปลี่ยนเป็นสีดำ เหี่ยวเฉา และตายในที่สุด
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. ใช้มะเขือเทศพันธุ์ต้านทานโรค
2. คัดเลือกกล้ามะเขือเทศที่แข็งแรงและไม่เป็นโรคไวรัสมาปลูก
3. หมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูก เพื่อลดแหล่งสะสมของเชื้อไวรัสและแมลงพาหะ เช่น สาบแร้งสาบกา กะเม็ง หญ้ายาง กระทกรก ลำโพง โทงเทง และขี้กาขาว
4. ตรวจแปลงสม่ำเสมอ ถ้าพบต้นที่เป็นโรค ถอนแล้วนำไปทำลายนอกแปลงปลูก
5. เชื้อไวรัสสาเหตุโรคพืช ยังไม่มีสารป้องกันกำจัดโดยตรง แต่ป้องกันการระบาดของโรคได้โดยพ่นสารกำจัดแมลงพาหะนำโรค ดังนี้
– แมลงหวี่ขาว ได้แก่ สารอิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฟนโพรพาทริน 10% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– เพลี้ยอ่อน ได้แก่ สารฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
– เพลี้ยไฟ ได้แก่ สารอิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
6. ไม่ปลูกพืชที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค ได้แก่ พืชตระกูลแตง ตระกูลถั่ว ตระกูลมะเขือ ขึ้นฉ่าย ยาสูบ งา กะเพราขาว ตำลึง หงอนไก่ บานไม่รู้โรย และทานตะวัน เป็นต้น ใกล้แปลงปลูกมะเขือเทศ
7. แปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก และไม่ปลูกมะเขือเทศซ้ำ ควรปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค