เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ สำนักงาน ปปง. (หัวช้าง) ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กทม. นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. มอบหมายให้คณะผู้บริหารสำนักงาน ปปง. นำโดยนายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมาย และในฐานะโฆษกสำนักงาน ปปง. นายพีรธร วิมลโลหการ ผอ.กองกำกับและตรวจสอบ และในฐานะรองโฆษก ปปง. น.ส.สุปราณี สถิตชัยเจริญ ผอ.กองความร่วมมือและพัฒนามาตรฐาน และในฐานะรองโฆษก ปปง. และนายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย และในฐานะรองโฆษก ปปง. ร่วมกันแถลงผลสรุปการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ประจำเดือน มี.ค.67 ประกอบด้วย การสืบสวนขยายผลกลุ่มจีนเทา ยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 53 ล้านบาท การยึดทรัพย์สินเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ รวมมูลค่า 76 ล้านบาท พร้อมกับแถลงผลสรุปการดำเนินงานในรอบ 6 เดือน มาตรการป้องกันการฟอกเงินกรณีบัญชีม้า การคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน ปปง.ขายทอดตลาดพระเครื่องรุ่นดังชุดใหญ่ในวันที่ 21 มี.ค. และตอบคำถามในประเด็นสำคัญอื่น ๆ

โดยนายวิทยา กล่าวถึงกรณีที่ นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ประธานกรรมาธิการ ปปง. ระบุว่าในวันที่ 20 มี.ค. จะมีการเชิญสมาคมผู้ค้าทองคำและเจ้าหน้าที่ ปปง. เข้ามาชี้แจงในกรณีที่มีการรายงานข่าวของสื่อมวลชนว่ามีข้าราชการตำรวจนำเอาทองคำไปขาย น้ำหนักกว่า 10,000 บาทนั้น ตนต้องเรียนชี้แจงว่าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. คือ นอกจากการปราบปรามและยึดทรัพย์แล้ว เรายังมีหน้าที่กำกับอาชีพที่มีความเสี่ยงจะถูกใช้เป็นช่องทางสำหรับการฟอกเงิน เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ หรือร้านเพชร ร้านพลอย ร้านทอง เป็นต้น เนื่องจากกลุ่มคนที่กระทำความผิดมักจะนำเงินมาฟอกผ่านช่องทางเหล่านี้ ส่วนจะมีเงินที่นำมาฟอกผ่านร้านทองหรือไม่ ตนต้องชี้แจงว่าร้านทอง เรามีการบังคับอยู่ 2 ประเด็นในการรายงานการทำธุรกรรม คือ

1.ถ้ามีการทำธุรกรรมด้วยเงินสด เช่น มีการซื้อขายตั้งแต่ยอด 2 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องรายงานการทำธุรกรรมนั้นมายัง ปปง. ให้รับทราบ และ 2.ถ้าเป็นธุรกรรมสงสัย หรือมีเหตุสงสัย จากการปรากฏเป็นข่าว เขารู้หรือควรรู้ว่าบุคคลนั้น ๆ มีการกระทำผิดในมูลฐานการฟอกเงิน พนันออนไลน์ ดังนั้น ถ้ากลุ่มคนเหล่านี้ไปทำธุรกรรมผ่านทางสถาบันการเงินหรือร้านทอง ผู้ประกอบการก็จะรู้โดยยึดตามพฤติกรรมสงสัย แม้บาทเดียวก็ต้องรายงานการทำธุรกรรมมายังสำนักงาน ปปง. เพื่อบังคับให้เกิดร่องรอยและจากนั้นทาง ปปง. จะเข้าไปตรวจสอบต่อ

ส่วนในกรณีที่มีการทำธุรกรรมมากกว่าสองล้านบาทขึ้นไปแต่ทางสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบอาชีพที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ปปง. ไม่มีการรายงานมาให้ทราบนั้น โฆษก ปปง. อธิบายว่า เราจะมีมาตรการการปรับผู้ประกอบการ กรรมละไม่เกิน 1 ล้านบาท และถ้ายังมีการฝ่าฝืนไม่รายงาน ปปง. ก็จะปรับวันละ 10,000 บาทต่อเนื่องไปจนกว่าจะมีการปฏิบัติตามหลักการที่ถูกต้อง ส่วนเรื่องมาตรการการตรวจสอบทางแพ่ง ปปง. มีการตรวจสอบตลอดเวลา ถ้าทรัพย์สินยังอยู่และเราเจอเราก็จะทำการตรวจยึด แต่ถ้าไม่เจอร่องรอยทรัพย์สินดังกล่าว เราก็จะดำเนินการสนับสนุนกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินทางอาญาในความผิดฐานฟอกเงิน เพื่อจะเข้าไปดูว่ารายการทรัพย์สินที่มีความเชื่อมโยงเส้นสายเดียวกันนั้นได้มีการถ่ายโอน จำหน่าย ยักย้ายไปยังบุคคลใดบ้างหรือไม่ ตรงนี้คือหน้าที่ของ ปปง. ทั้งนี้ ในอนาคตหากมีการตรวจสอบรายการทรัพย์สินพบเพิ่มเติมเราก็ทำการยึดได้อีก

โฆษก ปปง. กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินนั้น ถ้า ปปง. เป็นฝ่ายพบว่าทรัพย์สินมีต้นทางมาจากการกระทำความผิด ปปง. จะเป็นผู้ยึดทรัพย์ แต่ในเรื่องทางอาญาฟอกเงิน หน้าที่หลัก คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจะต้องเข้ามาดูว่าตอนที่เขามาขายหรือมีการรับโอนไป คนที่รับโอนไปหรือคนขาย รู้หรือควรรู้หรือไม่ว่าทรัพย์สินดังกล่าวมาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ดังนั้น ปปง. จะสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเราก็จะต้องรอรายงานการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่ามีการซื้อขายจริงหรือไม่ และเป็นการซื้อขายโดยเงินสดหรือโอนผ่านบัญชีธนาคาร ซึ่งความยากคือการตรวจสอบเจตนา โดยพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ไปรวบรวมพยานหลักฐานว่าคนคนนี้รู้หรือควรรู้ว่าทองคำที่นำไปขาย นำมาจากไหน หรือซื้อมาจากที่ใด ขายอย่างไร แต่ยืนยันว่าทั้ง ปปง. และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องประสานข้อมูลร่วมกันทำงานคู่ขนานกันไป

เมื่อถามว่าในกรณีของนายตำรวจนายพลระดับสูงที่มีการซื้อขายทองมากกว่าสองล้านบาทนั้น ทางผู้ประกอบการร้านทองคำดังกล่าวได้มีการรายงานการทำธุรกรรมมายัง ปปง. บ้างหรือไม่ โฆษก ปปง. แจงว่า ตนไม่ขอเจาะจงไปที่รายคดีนี้ ปกติทางร้านค้าทองคำหากเข้าหลักเกณฑ์จะต้องมีการรายงานมาตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าตอนนี้เราต้องไปตรวจสอบว่าเขาได้มีการรายงานมาครบถ้วนหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการระดับสูงหรือข้าราชการระดับเล็ก เราตรวจสอบทุกกรณี แต่เพราะคดีนี้มีการให้ความสนใจจากสังคมและกรรมาธิการ เราก็จะต้องลงไปตรวจสอบให้ครบถ้วนมากยิ่งขึ้นว่ามีการปฏิบัติครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเราพบว่ามีการทำธุรกรรมซื้อขายทองคำจริง แต่เราจะต้องไปตรวจสอบให้ความเป็นธรรมว่ากรณีดังกล่าว คนที่เขาทำธุรกรรมรู้หรือไม่ว่าเป็นทรัพย์สินมาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ก็จะต้องมีพยานหลักฐานมาประกอบด้วย

เมื่อถามต่อว่า ปปง. ได้เข้าไปตรวจสอบหรือไม่ว่าการซื้อขายทองคำของนายตำรวจมีความถี่ดำเนินการกี่ครั้งและเกิดขึ้นในห้วงเวลาใด โฆษก ปปง. กล่าวว่า ในเรื่องนี้จะมอบหมายให้ทางนายพีรธร ผอ.กองกำกับและตรวจสอบ และในฐานะรองโฆษก ปปง. ลงไปตรวจสอบ แต่ต้องใช้ระยะเวลาสักนิด เนื่องจากปกติแล้วกรอบการรายงานการทำธุรกรรมมันต้องมีมูลค่า 2 ล้านบาท แต่บางทีเราอาจมีความจำเป็นจะต้องไปดูรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติม จึงขออนุญาตละเว้นการตอบไว้ก่อน แต่ถ้าได้มีการดำเนินการจะมีการรายงานให้รับทราบอีกครั้ง ทั้งนี้ กรณีในวันที่ 20 มี.ค. หากทางกรรมาธิการ ปปง. มีการส่งหนังสือเรียกเชิญ ปปง. และสมาคมผู้ค้าทองคำไปชี้แจง เราก็ต้องไปให้ข้อมูลที่สภา เพราะเราจะยืนยันว่าเราให้ความสำคัญในมาตรการการกำกับของเรา เราทำเต็มที่อยู่แล้ว ร้านค้าทองคำต้องทำตามหลักกฎหมาย

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ IMG_4364.jpeg

ส่วนกรณีนายตำรวจ 3 ราย และพลเรือน 1 ราย ที่ถูกดำเนินคดีที่ สน.เตาปูนนั้น โฆษก ปปง. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งขั้นตอนจริงๆ แล้วทางพนักงานสอบสวน สน.เตาปูน จะต้องมีการรายงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี มายัง ปปง. แต่พอเป็นข่าวเราได้มีการตรวจสอบดูเบื้องต้นแล้ว แต่อย่างไรก็ต้องรอรายงานที่จะเป็นรายละเอียดข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ส่วนมาตรการทางแพ่งไม่มีอายุความสามารถดำเนินการยึดทรัพย์สินได้ตลอด หากพบเพิ่มเติมก็ยึดได้ ดังนั้น ถ้าหากทางพนักงานสอบสวน สน.เตาปูน ได้มีการรายงานข้อมูลเข้ามาและพบความผิดมูลฐานชัดเจน และถ้าเราเจอทรัพย์สินและเป็นการได้มาจากการกระทำความผิด เราก็ต้องดำเนินการทางกฎหมาย แต่ขอเวลาในการตรวจสอบสักระยะ

โฆษก ปปง. กล่าวด้วยว่า ในกรณีที่เป็นข้าราชการตำรวจระดับสูง แล้วมีการนำทองไปซื้อขาย เราก็จะต้องมีการประสานสอบถามข้อมูลกับทางสำนักงาน ป.ป.ช. เพราะเขาจะต้องมีการยื่นบัญชีทรัพย์สิน เราก็จะนำรายการบัญชีทรัพย์สินที่ข้าราชการรายดังกล่าวเคยยื่นไว้มาตรวจสอบประกอบคู่กัน เพราะข้าราชการผู้ใหญ่บางท่านอาจจะเป็นบุคคลที่มีฐานะทางการเงินดีอยู่แล้ว หรือภรรยาหรือสามีมีรายได้อยู่แล้ว เราก็จะต้องดูความสามารถในการประกอบอาชีพรายได้ แต่หากเรามีความสงสัย ก็อาจจะต้องเรียกบุคคลดังกล่าวมาสอบถามเพื่อให้ความเป็นธรรมให้เขาได้ชี้แจง แต่ไม่ได้หมายความว่าหากข้าราชการรายดังกล่าวมีทรัพย์สินหลาย 100 ล้านบาท แล้ว ปปง.จะต้องเข้าไปตรวจสอบทุกราย เราก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี แต่ถ้ามีข่าวเกี่ยวพันว่าอาจมีความเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดในคดีอาญา อันนี้อาจจะเป็นเหตุอีกประการให้ ปปง. เกิดความสงสัยและเรียกมาสอบถามข้อมูล หรือเข้าไปตรวจสอบได้

“การที่ ปปง. จะเข้าไปตรวจสอบใคร หรือจะเข้าไปยึดอายัดทรัพย์สินใครจะต้องมีความผิดมูลฐานชัดเจนก่อน ในระดับที่คณะกรรมการธุรกรรมเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดมูลฐาน แต่ทุกอย่างตอนนี้อยู่ในระหว่างที่ ปปง. ตรวจสอบ เพราะถ้าจะดำเนินมาตรการทางแพ่ง ค่อนข้างรุนแรง จะต้องไปดูว่ามีการจำหน่าย ยักย้าย ถ่ายโอนทรัพย์สินไปยังบุคคลใดอีกหรือไม่ เราจะต้องตามไปยึด และต้องตรวจที่มาให้ดีว่าเงินนั้นได้มาจากไหน ไม่ใช่ว่ามีเงินจำนวนเยอะแล้วเราจะไปยึดมาได้ อีกทั้งทรัพย์สินที่ได้เป็นทรัพย์สินที่ได้มาในช่วงที่มีการกระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ ถ้าชี้แจงไม่ได้เราจึงจะเข้าไปยึด” โฆษก ปปง. ระบุ

ส่วนจะมีการเชิญนายตำรวจระดับสูงเข้ามาชี้แจงหรือไม่นั้น เราขอตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดที่จะได้รับจากพนักงานสอบสวน สน.เตาปูน ก่อน แต่คาดว่าจะใช้ระยะเวลาหลายเดือนแต่ไม่เกินปี ซึ่งถ้าพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนส่งมาให้เราอย่างรวดเร็วและพยานหลักฐานชัดเจนแน่นหนาตามมาตรฐานของคณะกรรมการธุรกรรม เราก็สามารถดำเนินการรวดเร็วได้แต่ก็ต้องทำด้วยความรอบคอบและเป็นไปตามกฎหมาย ยืนยันว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับทาง สน.เตาปูน เพื่อที่จะได้รับรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีและรายชื่อของผู้ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทั้งหมด

ขณะที่นายพีรธร วิมลโลหการ ผอ.กองกำกับและตรวจสอบ และในฐานะรองโฆษก ปปง. กล่าวว่า สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ประกอบด้านการเงินทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายฟอกเงิน เช่น หากเป็นผู้ประกอบการร้านทองคำ จะต้องมีการเก็บข้อมูลลูกค้าที่มาทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าภายในร้าน ยกตัวอย่างเช่น การขอบัตรประจำตัวประชาชนของลูกค้า ส่วนการรายงานการทำธุรกรรมมายัง ปปง. ผู้ประกอบการจะต้องรายงานมายัง ปปง. เมื่อมีการซื้อขายด้วยเงินสด 2 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นการซื้อขายโดยการโอนเงินตั้งแต่ 700,000 บาทขึ้นไป ทางธนาคารจะเป็นผู้ที่รายงานการทำธุรกรรมมายัง ปปง. ดังนั้น ประวัติการซื้อขายทรัพย์สินมีค่าจำนวนมากส่วนใหญ่จะถูกรายงานมายัง ปปง. ตามที่กฎหมายกำหนดแต่ถ้ามีการฝ่าฝืนช่วยเหลือกันไม่มารายงาน ตนเรียนว่าที่ผ่านมา ปปง. ได้เคยดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของร้านทองต่างๆ ปปง. ได้มีการเข้าไปตรวจสอบประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และให้คำแนะนำทุกกลุ่มอาชีพตลอดเวลา แต่ส่วนใหญ่ก็มีการปฏิบัติตามหลักที่กำหนด คือ การเก็บข้อมูลลูกค้าที่มาซื้อขายและรายงานการทำธุรกรรมมายัง ปปง. ยืนยันว่า ทาง ปปง. สามารถนำข้อมูลประวัติการซื้อขายที่ผู้ประกอบการรายงานมา ไปตรวจสอบย้อนหลังได้.