เมื่อวันที่ 18 มี.ค. นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ ระงับการรับคำร้องขอตรวจลงตราของคนเก็บเบอร์รี่ป่าในไทย ว่ามีความเชื่อมโยงมาจากคดีข้อกล่าวหาค้ามนุษย์ก่อนหน้านี้หรือไม่ ว่า คงสืบเนื่องมาจากตรงนั้น ซึ่งทางแก้ไขเบื้องต้น ในปีงบประมาณ 2567 ตนได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ว่า ในปีนี้จะมีการชะลอการส่งแรงงานไทยไปเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์ และสวีเดนทั้งหมด เพื่อแก้ปัญหาค่าบริการ ค่าเดินทาง ค่าวีซ่า ค่าเช่ารถต่างๆ และอื่นๆ ไม่ให้เกิดขึ้นอีก ไม่เช่นนั้น หากเรายังส่งไปก็จะทำให้มีปัญหาอีก ส่วนการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ อาจจะต้องใช้เวลา เพราะต้องหารือร่วมกับทางประเทศฟินแลนด์ และสวีเดน เพื่อปรับกฎระเบียบของ 2 ฝ่าย

เมื่อาถามถึงลักษณะการส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์ สวีเดนที เหตุใดถูกมองว่า ส่อเป็นการค้ามนุษย์ นายสมชาย กล่าวว่า จะมีเอเย่นต์ในประเทศไทย ซึ่งก็คือคนที่ได้รับการมอบหมายจากบริษัทที่รับซื้อเบอร์รี่ ที่ฟินแลนด์ เมื่อได้วีซ่า ได้โควตากับกระทรวงการต่างประเทศของเขาแล้ว จะนำโควตานั้นส่งมาให้ตัวแทนของเขาในประเทศไทย เพื่อรับสมัครคนงานไทยไปเก็บผลไม้ในฟินแลนด์ ซึ่งในส่วนกระบวนการกระทรวงแรงงานนั้น ไม่ได้มีปัญหา แต่พอไปแล้วเป็นอีกแบบ ซึ่งในช่วงที่เกิดปัญหานั้น จะมีเอเย่นต์เอาคนจากประเทศไทยไปเก็บผลไม้แล้วขาย แต่กลับมีการเรียกเก็บค่าบริการ ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าเช่าที่พัก ค่าเช่ารถ ค่าน้ำมันรถยนต์ ค่าอาหาร คือ ทุกอย่างคนงานจ่ายหมด อีกทั้งที่พักยังไม่เหมาะสม แล้วในปีที่เกิดปัญหานั้น เข้าใจว่าที่พักไม่เพียงพอ คนงานต้องไปนอนในป่า เลยเป็นประเด็นที่เขามองว่าน่าจะเป็นการค้ามนุษย์

เมื่อถามว่าแรงงานที่ไป ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนใดบ้าง หรือไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเลย ถึงจะผ่านเกณฑ์และไม่เข้าข่ายค้ามนุษย์ นายสมชาย กล่าวว่า โดยหลักการ อย่างเช่นปีที่ผ่านมา ทั้ง 2 ประเทศมีการเปลี่ยนระบบ โดยนายในประเทศในประเทศไทยพาลูกจ้างไปเก็บผลไม้ป่าที่ฟินเลนด์ และสวีเดน ประเด็นคือ หากเป็นลูกจ้างของตัวเองก็ไม่ควรจะมีค่าบริการ ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ตลอดจนไม่ควรมีค่าเช่าที่พัก ค่ารถ ค่าน้ำมันรถ เพราะเขาเป็นลูกจ้าง เมื่อนายจ้างส่งลูกจ้างไปทำภารกิจให้กับตัวเอง ก็ต้องออกค่าใช้จ่ายให้กับลูกจ้างทั้งหมด แต่เอาเข้าจริงๆ กลับไม่ใช่ เพราะมีการเก็บทุกอย่างเลย

“สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว คือการแก้กฎหมายว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 โดยต้องมองสภาพข้อเท็จจริงของการไปเก็บผลไม้ป่าว่าเป็นแบบไหน แล้วนำมาสู่การพิจารณาเขียนกฎหมายให้ชัดเจน ไม่ใช่มาหลบเลี่ยงกันแบบนี้ ไม่อย่างนั้นจะทำให้การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เกิดปัญหาทุกปี แล้วทำให้เราถูกโจมตีว่าเป็นต้นทางของการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งเราคงต้องเร่งดำเนินการ อย่างที่บอกว่า ปีนี้คงต้องชะลอการส่งแรงงานไปก่อน ส่วนปี 68 เมื่อมีการพูดคุยตกผลึกเรียบร้อยแล้ว กฎระเบียบตรงไหนที่มันไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง ก็คงต้องปรับแก้ทั้งหมด” นายสมชาย กล่าว

ทั้งนี้ แต่ละปีมีแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์ประมาณ 3 พันคน สวีเดนประมาณ 6-7 พันคน เดินทางราวๆ ก.ค., ส.ค. และทำงานเก็บผลไม้ประมาณ 3 เดือน แล้วเดินทางกลับ ส่วนค่าแรงนั้น ปกติจะได้จากการขายผลเบอร์รี่ที่เก็บได้ให้กับผู้รับซื้อ ซึ่งก็คือคนที่ได้รับโควตาวีซ่าจากฟินแลนด์ ตามราคาที่เขาประกาศในแต่ละวัน ณ วันนี้การส่งแรงงานไปเก็บเบอร์รี่ ยังไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยเป็นลักษณะเก็บได้ก็ขาย ถ้าไม่เก็บก็ไม่มีรายได้ แต่ไม่เหมือนนายจ้างลูกจ้าง ทำงานสิ้นเดือนก็ได้เงินเดือน ดังนั้นต้องกลับมาดูว่า จะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างมีมาตรฐาน และไม่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์อย่างที่เป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อถามว่า หากแรงงานมีรายได้จากจำนวนผลไม้ที่เก็บได้ ไม่ใช่เป็นค่าแรงจากผู้จัดส่ง ลักษณะดังกล่าว จะถือเป็นลูกจ้างได้หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ต้องมีการตรวจสอบ หากคุณยอมรับว่า เป็นลูกจ้างของคุณจริง ต้องไม่มีการเรียกเก็บค่าต่างๆ ในการไปทำงาน ซึ่งมันไม่ควรมีอยู่แล้ว แต่ ณ วันนี้มันไม่ใช่ เพราะมีการเรียกเก็บทุกอย่าง

ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงความคืบหน้าคดีข้อกล่าวหาค้ามนุษย์ในการส่งแรงงานไปทำงานเก็บผลไม้ป่า นายสมชาย กล่าวว่า ในส่วนของฟินแลนด์ เขาก็ดำเนินการของเขาอยู่ ส่วนในประเทศไทย ก็เป็นความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่เขากำลังดูอยู่.