จากกรณีที่นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด ให้ทำหน้าที่กำกับและตรวจสอบสำนวนคดีพิเศษที่ 9/2567 หรือคดีซ้อมทรมานลุงเปี๊ยก ภายใต้การรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นำโดยนายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม และคณะพนักงานสอบสวน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาตัวผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ที่นายปัญญา คงแสนคำ หรือ ลุงเปี๊ยก ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว บังคับให้รับสารภาพและชี้จุดทำแผนประกอบคำรับสารภาพในคดีการเสียชีวิตของ น.ส.บัวผัน ตันสุ หรือป้าบัวผัน ซึ่งท้ายสุดพบว่าผู้ก่อเหตุที่แท้จริงคือเยาวชน จำนวน 5 ราย
อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวของพนักงานสอบสวน สภ.อรัญประเทศ ถือว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เป็นเหตุให้นายวัชรินทร์ จึงได้มีการนัดหมายประชุมคณะทำงานเพื่อวางขั้นตอนและแนวทางการสอบสวนในวันอังคารที่ 19 มี.ค. ณ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ขณะที่ในวันพุธที่ 20 มี.ค. ดีเอสไอจะมีการเรียกสอบปากคำพยานสำคัญซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ได้มีการตรวจสอบสำนวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ ที่ได้มีการสอบปากคำลุงเปี๊ยกในคืนวันเกิดเหตุ รวมถึงดีเอสไอได้มีการหารือความคืบหน้าของคดีร่วมกับพนักงานอัยการจากการลงพื้นที่รวบรวมพยานหลักฐาน พยานเอกสาร อีกทั้งพนักงานสอบสวนยังได้เข้าสอบปากคำลุงเปี๊ยกที่สถานพยาบาลด้วยตัวเองภายใต้การอนุญาตของแพทย์ผู้ตรวจรักษา จึงได้รายละเอียดข้อมูลสำคัญที่จะนำไปประกอบการทำสำนวนคดีเป็นอย่างยิ่ง ล่าสุดมีมติร่วมกันในที่ประชุมออกหมายเรียกพยานแก่ 2 นายตำรวจ สภ.อรัญประเทศ เข้าให้ปากคำในวันพุธที่ 20 มี.ค. แบ่งเป็น รอบเวลา 10.00 น. จำนวน 1 ราย และรอบเวลา 13.00 น. อีก 1 ราย โดยจะทำการสอบปากคำที่ศูนย์ราชการฯ อาคารบี ชั้น 8 ห้องพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ฝั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ) ส่วนเรื่องรายละเอียดว่าทั้งคู่มีชื่อ-นามสกุลใด ตำแหน่งอะไรนั้น ตนขอละเว้นการเปิดเผยไว้ก่อน แต่ยืนยันว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับลุงเปี๊ยกในคืนวันเกิดเหตุแน่นอน โดยมีบทบาทตั้งแต่การควบคุมตัวไปจนถึงขั้นตอนการสอบปากคำ
นายอังศุเกติ์ เผยอีกว่า สำหรับประเด็นที่จะใช้สอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 2 นาย คือ ในวันเกิดเหตุได้มีหลักการปฏิบัติในการควบคุมตัวผู้ต้องหาอย่างไร และในกระบวนการสอบปากคำในคืนวันเกิดเหตุเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าหากทั้งคู่ให้การเป็นประโยชน์ หรือให้การพาดพิงไปถึงบุคคลใดเพิ่มเติม คณะพนักงานสอบสวนก็จะต้องเชิญบุคคลดังกล่าวมาให้ถ้อยคำในฐานะพยานเพื่อประกอบเข้าในสำนวนเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอจะใช้ถ้อยคำให้การของทั้ง 2 ตำรวจ พิจารณาประกอบกับสำนวนการสอบสวนเดิมของ สภ.อรัญประเทศ ว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ หรือขัดแย้งกันอย่างไร เพื่อที่จะใช้ขยายผลต่อไปว่าจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ กี่รายและเป็นใครบ้าง ที่จะเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ทั้งนี้ การสอบปากคำในฐานะพยานครั้งนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ชี้แจงตัวเองเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนทำตามขั้นตอนเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกคน และเพื่อให้การทำสำนวนนี้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่รอบด้านและถูกต้อง
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้รับรายงานเพิ่มเติมจากแหล่งข่าวภายในกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่า สำหรับนายตำรวจทั้งสองรายนี้ที่จะเข้าให้ถ้อยคำในฐานะพยาน ไม่ใช่บุคคลที่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน แต่เป็นคนที่รู้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด สิ่งสำคัญ คือ ทั้งคู่ต้องให้การที่เป็นประโยชน์ และต้องพูดความจริงว่าในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรายใดทำหน้าที่อะไรบ้าง โดยเฉพาะประเด็นการทรมานและการบังคับลุงเปี๊ยกให้รับสารภาพ ทั้งคู่มีส่วนรู้เห็นมากน้อยเพียงใด ส่วนในประเด็นอื่น ๆ ที่ดีเอสไอจะใช้ในการสอบปากคำ 2 นายตำรวจ ล้วนเป็นคำถามที่ได้รับการแนะนำอย่างดีจากอัยการ โดยในวันพุธที่ 20 มี.ค.นี้ นอกจากเจ้าหน้าที่ดีเอสไอแล้วจะยังมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เข้าร่วมในกระบวนการสอบปากคำอีกด้วย เนื่องจากสำนวนคดีนี้ได้มีพนักงานอัยการเข้ามาเป็นหัวหน้าคณะทำงาน รับหน้าที่ในการกำกับและตรวจสอบสำนวน ซึ่งถ้าหากในอนาคตดีเอสไอจะออกหมายเรียกเจ้าหน้าที่รายใดในฐานะผู้ต้องหาเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา หรือจะสรุปสำนวนมีความเห็นทางคดีอย่างไร ก็จะต้องผ่านการกำหนดและรับทราบจากพนักงานอัยการในฐานะหัวหน้าคณะทำงานก่อน
รายงานข่าว ยังระบุอีกว่า ส่วนบทลงโทษที่มีแนวโน้มว่ากลุ่มพนักงานสอบสวน สภ.อรัญประเทศ ชุดจับกุมและสอบปากคำลุงเปี๊ยก จะเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ อาทิ มาตรา 22 ไม่มีการบันทึกภาพและเสียงระหว่างควบคุมตัวผู้ต้องหา ไม่มีการรายงานต่อพนักงานอัยการ หรือนายอำเภอในท้องที่ให้รับทราบถึงการควบคุมตัวผู้ต้องหา หรือ มาตรา 5 การกระทำทรมานต่อร่างกายและจิตใจ หรือ มาตรา 6 การกระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมโหดร้าย หรือข้อกฎหมายอื่น ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การจะแจ้งข้อหาเจ้าหน้าที่รายใดก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาพยานหลักฐานและยึดความเห็นของอัยการเป็นสำคัญ