จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ภายใต้การกำกับของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีฯ ได้สั่งการให้คณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน นำโดย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ดำเนินการต่อเนื่องในคดีพิเศษที่ 59/2566 คดีหมูเถื่อน 161 ตู้, คดีพิเศษที่ 126/2566 คดีหมูเถื่อน 2,388 ตู้, คดีพิเศษที่ 127/2566 หรือคดีขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์เถื่อนนานาชนิดกว่า 10,000 ตู้ (เนื้อหมู เนื้อไก่ และเนื้อวัว) เพื่อขยายผลหาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการฝ่ายการเมือง ตามที่มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการเปิดปฏิบัติการขยายผลทางคดีลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์เถื่อนนานาชนิดกว่า 10,000 ตู้ หรือคดีพิเศษที่ 127/2566 เพื่อแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมประกอบเข้าสำนวนนั้น โดยเฉพาะกรณีเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ดีเอสไอได้เข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 2 แห่ง ในจังหวัดนนทบุรี ประกอบด้วย บริษัท พีซี โฟรเซ่น จำกัด และ บจก.พีมาร์ท ซุปเปอร์สโตร์ ภายหลังตรวจค้นคณะพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ได้ตรวจยึดพยานวัตถุและพยานเอกสารสำคัญหลายรายการ ซึ่งรายการที่น่าสนใจ คือ บัญชีส่วย เนื้อหาภายในมีการระบุชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีการจ่ายเงินให้บุคคลใด หน่วยงานใดของรัฐ จ่ายผ่านช่องทางใด และห้วงวันที่เวลา ต่อมาเราได้มีการตรวจสอบสถานภาพของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปรากฏอยู่ในบัญชีส่วย ซึ่งพบว่าทางกลุ่มผู้ต้องหาและพวก ได้มีการจ่ายเงินในอัตรา 20,000-50,000 บาท ต่อเจ้าหน้าที่ 1 ราย ล่าสุดดีเอสไอได้รับข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร จำนวน 4 ราย ที่ปรากฏชื่อในบัญชีส่วยได้เกษียณราชการไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำหนังสือเชิญเข้าให้ปากคำในฐานะพยาน ส่วนกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐรายอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีส่วย แต่อยู่ในห้วงเวลาเกิดเหตุการณ์ลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์เถื่อนมายังท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี อาทิ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมประมง บางรายได้มีการประสานติดต่อเข้าพบดีเอสไอ เพื่อเตรียมเข้าให้ปากคำในฐานะพยานแล้ว

“กรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้ง 3 หน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้องกับบริษัท พีซี โฟรเซ่น จำกัด เนื่องจากสินค้าหลายประเภทที่เข้าไปยังบริษัทดังกล่าว เป็นสินค้าที่จะต้องได้รับการอนุญาตและการอนุมัติจากทั้ง 3 หน่วยงาน ดังนั้น การเรียกสอบปากคำในฐานะพยานก็เพื่อให้เขาชี้แจงว่า การดำเนินการของบริษัท พีซีฯ ได้กระทำอย่างถูกต้องตามหลักกฎหมายหรือไม่” หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ระบุ

พ.ต.ต.ณฐพล เผยอีกว่า ส่วนขั้นตอนในปัจจุบันระหว่างที่รอการเข้าให้ปากคำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปรากฏชื่อในบัญชีส่วยนั้น คณะพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรอการแจ้งกลับตัวรายงานเอกสารทางการเงินจากธนาคาร เพื่อสำหรับสอบถามการทำธุรกรรม เช่น การเปิดบัญชีธนาคาร เปิดเพื่อวัตถุประสงค์ใด หรือชื่อบัญชีธนาคารที่ปรากฏเป็นของบุคคลใด รวมถึงแหล่งที่มาของเงินที่พวกเขาได้รับ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวทางการเงินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เพราะมันจะมีร่องรอยบางอย่างที่บ่งบอกว่าไม่ใช่เพียงเงินเดือน เนื่องจากอัตราเงินเดือนก็จะตัวเลขหนึ่ง แต่ถ้าตัวเลขมันสูงผิดปกติไปจากฐานรายได้ เจ้าตัวก็ต้องชี้แจงให้ได้ว่าเป็นเงินเพิ่มเติมจากอะไร เป็นต้น

พ.ต.ต.ณฐพล เผยต่อว่า ส่วนคดีพิเศษที่ 126/2566 กรณีการนำเข้าตู้หมูเถื่อน จำนวน 2,388 ตู้ คณะพนักงานสอบสวนยังอยู่ระหว่างรอข้อมูลรายงานจากต่างประเทศ ผ่านกระบวนการความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (MLAT) จากประเทศต้นทาง อาทิ ประเทศบราซิล ประเทศอาร์เจนตินา ประเทศเยอรมนี ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศเดนมาร์ก ประเทศอิตาลี และประเทศสเปน เป็นต้น ของกลุ่มผู้ประกอบการสั่งซากสุกรซากเนื้อ เพื่อตรวจสอบว่าสรุปแล้วสินค้าที่ประเทศต้นทางส่งมาให้กลุ่มผู้ต้องในคดีของดีเอสไอ แท้จริงคืออะไร ประเภทสินค้า และราคาเป็นอย่างไร เนื่องจากการตรวจสอบที่ผ่านมา เราพบว่าขบวนการเหล่านี้มีการเลี่ยงภาษี มีการใช้ใบส่งของเท็จ (Invoice) มีการปลอมใบตราส่งสินค้า หรือ Bill of Lading (B/L) เพราะตามรายงานการสอบสวนพบว่ากลุ่มผู้ต้องหามีการอ้างว่าสินค้าที่นำเข้าเป็นสินค้าประมงแช่แข็ง หรือจำพวกเนื้อปลาแช่แข็ง แต่พอตรวจสอบเชิงลึกกลับพบว่าเป็นชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง และเนื้อสัตว์แช่แข็งต่าง ๆ

ทั้งนี้ พ.ต.ต.ณฐพล ยังเผยถึงความคืบหน้าที่เตรียมจะสรุปสำนวนปิดแฟ้มคดีมหากาพย์หมูเถื่อน 161 ตู้ หรือคดีพิเศษที่ 59/2566 ว่า คดีดังกล่าวเราได้มีการแยกออกเป็น 10 เลขคดี เพื่อดำเนินการตรวจสอบกับรายบริษัทชิปปิ้งเอกชนแต่ละแห่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง และยังมีเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง ประกอบด้วย คดีพิเศษที่ 101/2566-109/2566 ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้สรุปสำนวนส่งให้สำนักงาน ป.ป.ช. ไปแล้ว 3 สำนวน ได้แก่ คดีพิเศษที่ 59/2566 คดีพิเศษที่ 101/2566 และคดีพิเศษที่ 104/2566 ส่วนอีก 7 สำนวนที่เหลือ คือ เลขคดีพิเศษที่ 102/2566, 103/2566, 105/2566-109/2566 คณะพนักงานสอบสวนได้วางกรอบว่าภายในห้วงสัปดาห์ถัดไปจะส่งอีก 3 สำนวน คือ คดีพิเศษที่ 105/2566 รายบริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด, คดีพิเศษที่ 106/2566 รายห้างหุ้นส่วนจำกัด สหัสวรรษ ฟูดส์ และคดีพิเศษที่ 107/2566 รายบริษัท ซี เวิร์ล โฟรเซ่น ฟูดส์ จำกัด ดังนั้น แฟ้มคดีหมูเถื่อนทั้งหมด เราจะเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย. ตามที่ได้รายงานเสนอให้ผู้บังคับบัญชารับทราบ.