เมื่อวันที่ 24 มี.ค. นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. และโฆษกของกทม. เปิดเผยว่า กิจกรรม ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ปี 2567 (60+ Earth Hour 2024) เป็นกิจกรรมที่ กทม. ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน รณรงค์และเชิญชวนผู้ประกอบการ ร้านค้า ประชาชน ลดการใช้พลังงานและปิดไฟที่ไม่จำเป็น เช่น ไฟประดับ ไฟอาคาร ป้ายโฆษณา รวมถึงการถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศในอาคารบ้านเรือน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง พร้อมกับเมืองต่าง ๆ กว่า 7,000 เมือง 190 ประเทศทั่วโลก ในวันเสาร์ที่ 23 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา ระหว่างเวลา 20.30-21.30 น. ซึ่งทุกภาคส่วนได้ให้ความร่วมมือปิดไฟในช่วงดังกล่าว

โดยในปีนี้ 5 Landmark หลักของกทม. ได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เสาชิงช้า สะพานพระราม 8 และวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) ได้ร่วมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ด้วย

ซึ่งจากการคำนวณปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงเวลาดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยการไฟฟ้านครหลวง พบว่า กิจกรรม ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ปี 2567 นี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 24.65 เมกะวัตต์ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ เมื่อวันเสาร์ที่ 16 มี.ค.67 ระหว่างเวลา 20.30-21.30 น. ลดความต้องการการใช้ไฟฟ้าลงได้ 24.65 เมกะวัตต์ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 11 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เทียบได้กับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 1,100 ต้น ใน 1 ปี (ต้นไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 10 กก.ต่อปี) และสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ 130,182 บาท

ทั้งได้จัดกิจกรรมต่อเนื่องตั้งแต่ปี 51-66 สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 22,512 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการปัญหาโลกร้อนได้ 12,260.6 ตัน คิดเป็นมูลค่า 81.14 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย 30 หน่วยงาน ร่วมประกาศเจตจำนง กับกรุงเทพมหานครในการดำเนินการลดภาวะโลกร้อน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านการขนส่งมวลชน 2. ด้านพลังงาน 3. ด้านพื้นที่สีเขียว และ 4. ด้านการจัดการขยะมูลฝอย.