โดยเฉพาะตำรวจนี่ดูจะโปรยยาหอมเป็นพิเศษ เช่น จะดูแลเรื่องบ้านพักตำรวจที่ทรุดโทรมให้ ซึ่งว่าไปก็คงสอดคล้องกับนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินนี่แหละ เพราะ 1.ตำรวจเป็นหนี้มีมาก 2. เป็นขวัญและกำลังใจตำรวจในการจัดการหนี้นอกระบบ และ 3. หากสวัสดิการตำรวจดี ก็จะลดปัญหาเรื่องค่าส่วย หรือค่าอะไรต่อมิอะไรที่เทาๆ ลงไปได้

ซึ่งถ้าแก้หนี้ดูแลตำรวจแล้ว ได้ผลลัพธ์ตามข้อ 2, 3 นี่ ประเทศไทยจะเป็นประเทศในอุดมคติกลายๆ ทันที เนื่องจากคนมีอำนาจตามกฎหมาย ใช้อำนาจไปทางที่ถูกที่ควร ซึ่งใครๆ ก็หวังให้เป็นเช่นนั้น .. การแก้ไขปัญหาหนี้สิน เป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลพยายามทำ แต่ที่เด่นที่สุดน่าจะเป็นรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ

ซึ่งนายทักษิณนั้น ค่อนข้าง “เปิดเผยภาพการทำงานเพื่อแก้ไขหนี้สิน” เช่น ไปทำเรียลิตี้แก้จนที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด และมีกระบวนการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ซึ่งก็คือเจ้าหนี้นอกระบบดอกเบี้ยโหด ทำให้เป็นภาพจำหนึ่งของอดีตนายกฯ ที่ทำให้มีคนรักและศรัทธา วันนี้เสี่ยนิดดูเหมือนจะเดินตามรอย ให้เกิดภาพ “เพื่อไทยเป็นพรรคแก้จน”

หันมามองที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็สนับสนุนเรื่องแก้ไขหนี้สินเป็นวาระแห่งชาติ โดยทีมเศรษฐกิจพรรค นำโดย นายอุตตม สาวนายน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ได้สรุปภาวะหนี้สินครัวเรือนไทยคือ สถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนขยับสูงขึ้นเกือบ 91% ของจีดีพี คิดเป็นมูลค่าถึง 16.2 ล้านล้านบาท (ณ ไตรมาสที่ 3/2566) 

สัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคสูงถึงกว่า 76% ขณะที่สถิติของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ในปี 2566  มีหนี้เสียในระบบถึง 1.05 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้า 6.6% จากรายงานของกรมบังคับคดี ประเมินว่าจะมีลูกหนี้ถูกพิพากษาให้ชำระหนี้และถูกบังคับคดีราว 1.05 ล้านคดี ทุนทรัพย์รวมกว่า 15 ล้านล้านบาท ภายในระยะ 10 ปีข้างหน้า 

ภายหลังวิกฤติโควิด-19 มีคนมากถึง 50% ที่ไม่สามารถสร้างรายได้กลับมาในระดับเดิมก่อนโควิด โดยกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน จะมีรายจ่ายบวกภาระคืนหนี้คิดเป็นสัดส่วน 138.2% ของรายได้ กลุ่มรายได้ 1.5-3 หมื่นบาทต่อเดือน คิดเป็น 109.4% กลุ่มรายได้ 3-5 หมื่นบาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วน 104.7%

ข้อเสนอคือ การกำหนดนโยบายลดการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ครึ่งหนึ่งให้กับธนาคาร เหลือ 0.23% ต่อ 6 เดือน ชั่วคราว 5 ปี และให้นำเม็ดเงินส่วนที่ลดลงนั้น มาตั้งกองทุนหนี้ภาคครัวเรือน ธนาคารจะต้องนำเอากำไรสะสมร่วมด้วย ไม่น้อยกว่า 25% กองทุนใช้วิธีตัดยอดหนี้กับผู้รายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือน

ส่วนลูกหนี้ที่ธนาคารฟ้องคดีเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างบังคับคดียึดบ้าน ยึดหลักประกัน หรืออาจถูกฟ้องล้มละลายนั้น ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการต้องยอมสละสิทธิในการฟ้องล้มละลาย ชะลอการยึดหลักประกัน และลดราคาขายประกันเพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสมาซื้อหลักประกันคืน สำหรับลูกหนี้ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท

รัฐบาลควรพิจารณาค้ำประกันหนี้ให้เอสเอ็มอีที่จะกู้ใหม่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ในสัดส่วนสูงเป็นพิเศษชั่วคราว อาจจะถึง 80% ถ้าเป็นโครงการใหม่ ที่ธนาคารเห็นว่ามีศักยภาพ และไม่ใช่การกู้หนี้ใหม่ไปเพื่อใช้คืนหนี้เก่า สร้างรายได้เพิ่มเติมหรือลดค่าใช้จ่ายให้เอกชน เช่น สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยเปิดเสรีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป 

เรื่องหนี้เป็นปัญหาใหญ่ ไอเดียของฝั่งไหนดี ก็ควรพิจารณาปรับ โดยละวางเรื่องห่วงพรรคไม่ได้เครดิต.