บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ จากวัสดุเหลือทิ้งภาคการเกษตร จากวัสดุที่สามารถนำกลับมารีไซเคิล ฯลฯ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังมีบทบาทลดภาวะโลกร้อน ขับเคลื่อนความยั่งยืน จากการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีต่อเนื่อง พาสำรวจ
บทบาทบรรจุภัณฑ์ที่มากกว่าที่กล่าว ส่องเทรนด์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ผ่านมุมมอง รัชนีเพ็ญ เพ็ญสิทธิ์
ผู้อำนวยการศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย(ศบท.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยให้ความรู้ เล่าถึงบรรจุภัณฑ์ว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ให้ความสำคัญมายาวนาน โดยที่ผ่านมาจัดตั้งศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (Thai Packaging Center (TPC) ขึ้นนับแต่ปี 2527

“ศูนย์การบรรจุหีบห่อเป็นหน่วยงานกลางพัฒนาบรรจุภัณฑ์มาตรฐานที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลระดับนานาชาติ เพื่อช่วยรักษาคุณภาพสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพการส่งออก รวมทั้งให้คำปรึกษาและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ได้คุณภาพมาตรฐานทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์และวัสดุบรรจุภัณฑ์รวมถึงออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีโครงสร้างที่มีคุณสมบัติเฉพาะด้าน พัฒนาเทคโนโลยีด้านการบรรจุภัณฑ์แบบแอ็กทิฟ (Active Packaging) บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ (Intelligent Packaging) บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ

ผู้อำนวยการศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย คุณรัชนีเพ็ญ อธิบายอีกว่า หน้าที่หลัก ฟังก์ชัน บรรจุภัณฑ์ นอกจากช่วยการขนส่ง ขนย้ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง รักษาสิ่งของที่อยู่ภายในไม่ให้แตกหัก เสียหาย แต่ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่นั้น รูปลักษณ์หน้าตาที่ชวนซื้อดึงดูดใจมีส่วนช่วยส่งเสริมการขาย เป็นฟังก์ชันที่สำคัญมากในปัจจุบัน

“ปัจจุบันจึงเห็นนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเช่น กล่อง ดีไซน์ที่ไม่ใช่แค่กล่องสี่เหลี่ยมอย่างเดียว ออกแบบเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ฯลฯ เมื่อนำมาจัดเรียงขนส่งมีความสะดวก คุ้มค่ามากขึ้น หรือ บรรจุภัณฑ์กระป๋อง พัฒนาให้มีความสะดวก เปิดใช้งานง่าย จับง่าย พัฒนาฝาในรูปลักษณ์ต่าง ๆ หรือซองขนม ซองเครื่องปรุงดีไซน์ใช้งานสะดวกมากขึ้น ทั้งตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงอายุ ฯลฯ

ในด้าน วัสดุ ก็เช่นกันเมื่อต้องขนส่งระยะทางที่ไกลขึ้น ข้ามจังหวัดหรือข้ามประเทศ จะเห็นการดีไซน์ ใช้วัสดุที่หลากหลาย โลหะ แก้ว เซรามิก หรือพลาสติก เพื่อให้มีความสะดวก มีประสิทธิภาพ หรือการใช้ วัสดุธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่วมช่วยสร้างความยั่งยืน เซฟโลก หรือ บรรจุภัณฑ์พลาสติกโดยเป็นไปในรูปแบบรีไซเคิล ไม่เพิ่มขยะใหม่ ใช้วัสดุหมุนเวียน ฯลฯ

ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว.เราพัฒนาวิจัยบรรจุภัณฑ์และให้บริการ ทั้งเผยแพร่งานวิจัยเพื่อส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ สินค้ามีบรรจุภัณฑ์ที่มีรูปแบบสวยงาม สร้างตราสินค้า เอกลักษณ์เพื่อการจดจำและช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า ตลอดจนรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมให้มีการผลิตและการใช้งานบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย

โดยนักวิจัยออกแบบและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ผ่านมาดังเช่น Intelligent Packaging บ่งชี้ความปลอดภัยปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไย ตรวจสอบปริมาณสารซัลเฟอร์ที่เหลือตกค้างที่ผิวผลลำไย โดยนอกจากผู้บริโภคจะรับรู้ถึงความปลอดภัยในการรับประทาน ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายยังสามารถใช้บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ ในการสร้างตลาด สร้างความแตกต่างผลิตผลไม้คุณภาพที่มีความปลอดภัย สร้างความน่าเชื่อถือหรือรับรองคุณภาพผลิตผลที่ต้องการของผู้บริโภค โดยศูนย์ฯพัฒนาเป็นฉลากเปลี่ยนสีเมื่อทำปฏิกิริยากับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ นอกจากนี้ฉลาก ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผลไม้ อื่น ๆ เช่น ลิ้นจี่ เป็นต้น

ต้นแบบบรรจุภัณฑ์สีเขียว (Green Packaging) จากชานอ้อย สำหรับให้บริการอาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยบรรจุภัณฑ์กะทัดรัด สอดคล้องกับการเสิร์ฟ โดยมีนํ้าหนักเบา ฯลฯ ใช้วัสดุ ชานอ้อย วัสดุธรรมชาติซึ่งสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นทางเลือกในการลดขยะพลาสติก ทั้งช่วยลดเศษอาหารเหลือทิ้งจากการไม่มีเวลารับประทานให้ทันกำหนดเก็บล้าง ลดการใช้นํ้า ลดนํ้าเสีย จากการล้างภาชนะ ทั้งมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน สามารถใช้บรรจุอาหารได้ทุกประเภท ปรับเปลี่ยนรูปแบบได้โดยนำไปประยุกต์ใช้ ในการบรรจุอาหารพร้อม รับประทาน (Ready to eat food) อาหารส่งถึงที่ (Delivery food) และอาหารจัดเลี้ยง (Food catering)

ขณะที่บรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่าย ผัก ผลไม้ ออนไลน์ โดยที่ผ่านมานำร่องขนส่ง “มะม่วง” โดยมีความแข็งแรง สามารถรองรับนํ้าหนักผลผลิตได้ 5 กิโลกรัมต่อกล่องรับนํ้าหนักการเรียงซ้อนได้ 14 ชั้น ช่วยป้องกันความเสียหายและรักษาคุณภาพของผลิตผลหากกล่องเกิดการยุบตัวระหว่างการขนส่งและเก็บรักษา ทั้งสามารถบรรจุมะม่วงทุกเกรดที่มีขนาดผลแตกต่างกันได้ เพียงใช้แผ่นกั้น
เพื่อลดการเคลื่อนที่ของผลมะม่วง ฯลฯ อีกหนึ่งนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่วิจัย พัฒนาเพิ่มโอกาสการตลาดให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบกิจการในการขนส่งผลผลิตสู่มือผู้บริโภค.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ
[email protected]