เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมสร้างความเข้าใจกับผู้บริหารศูนย์การศึกษาพิเศษทั่วประเทศ ผ่านทางระบบ Zoom Meeting เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ในการทำงานบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ระหว่างศูนย์การศึกษาพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงพยาบาล และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมี นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ รวมถึงผู้บริหารศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุม
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานนั้น ครูพี่เลี้ยงเด็ก ต้องจัดทำ IEP ของเด็กทุกคนในศูนย์ฯ เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนา มีพัฒนาการที่ดีเพื่อให้สามารถกลับเข้ามาสู่สภาวะปกติได้อย่างดีและรวดเร็วที่สุด โดยศูนย์ศึกษาพิเศษประจำจังหวัดต้องประสานงานกับทาง ผอ.สพท. และ ผอ.รร. ให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน สามารถเข้าถึง และประสานงานให้ความช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างรวดเร็ว มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์แนวทาง ความรู้ การพัฒนา ข้อมูลข่าวสาร เพื่อช่วยเหลือดูแลนักเรียนให้ผู้ปกครอง เครือข่าย และผู้เกี่ยวข้องรับทราบเพื่อการดูแล เข้าใจ และสามารถแก้ปัญหาเบื้องต้นได้ รวมถึงการอบรมให้ความรู้ ให้คำแนะนำ คำปรึกษาครูพี่เลี้ยง ครูผู้สอน ส่งเสริมให้ครูหาความรู้เพิ่มเติม ในการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อเกิดประโยชน์ต่อนักเรียนและผู้ปกครองมากที่สุด พร้อมทั้งประสานงานกับเครือข่ายต่าง ๆ ร่วมจัดกิจกรรมที่ทำให้เด็กเกิดพัฒนาการเร็วขึ้น โดยผู้ปกครอง แพทย์ ครู ร่วมกันอย่างเต็มที่
.
อีกทั้งต้องมีการต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้รับจากแพทย์หรือบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานในโรงพยาบาล ถอดเป็นบทเรียนเผยแพร่เพื่อให้ผู้ที่ดูแลเด็กมีพัฒนาการดีขึ้นและเข้าสู่ภาวะปกติ แข็งแรง อยู่ในสังคม และพึ่งตนเองได้ การที่ได้ใกล้ชิดทีมแพทย์ จะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้คนที่ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ในส่วนของสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก ที่ศูนย์ฯ จัดสรรให้กับเด็กมีการนำไปขับเคลื่อน เด็กได้รับการพัฒนาอย่างไร เพื่อให้เห็นผลการดำเนินการเชิงประจักษ์ หรือกรณีเด็กส่งต่อ ศูนย์ฯ ส่งต่อหน่วยงานใด กระบวนการติดตามอย่างไร และเด็กกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้หรือไม่อย่างไร และสุดท้าย คือ ความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้ดูแล โรงเรียนและศูนย์ฯ เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นหลักที่จะทำให้เกิดการพัฒนาเด็กทั้ง 9 ประเภท ซึ่งพัฒนาการเหล่านั้นจะเห็นผลต้องมีความพร้อม ทั้งในด้านบุคลากร ด้านเครื่องมือ ครูพี่เลี้ยงมีความเชี่ยวชาญ เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่อง มีการส่งต่อข้อมูลเพื่อประโยชน์ของเด็ก อยากให้เด็กพิเศษทุกคนได้รับการดูแลที่ถูกต้องและอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ เด็กปกติยอมรับความแตกต่างของเพื่อนได้ และเป็นสังคมของการเกื้อกูล อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข โดยโรงเรียน ผู้ปกครอง เข้าใจและร่วมกันพัฒนาอย่างเต็มกำลัง
.
พร้อมกันนี้ สศศ. และศูนย์ฯ ประจำจังหวัด ต้องเร่งทำความเข้าใจกับ สพท. ทุกเขต ในเรื่องการคัดกรองเด็กระดับชั้นอนุบาลถึงชั้น ป.2 ดูในเรื่องพัฒนาการ ความเสี่ยงของเด็กที่จะเป็น LD และ Treatment เด็ก ในระดับชั้น ป.3 จึงจะเริ่มคัดกรองเด็กโดยใช้เครื่องมือคัดกรอง จะสามารถพบข้อมูลเด็กเสี่ยง LD แท้ได้ โดยให้ศูนย์ฯ ประจำจังหวัดทุกแห่ง ตรวจสอบข้อมูลในจังหวัดของตน ว่าพบปัญหาในเรื่องการคัดกรองลักษณะแบบนี้หรือไม่ เพื่อเตรียมวางแผนการแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป จากนั้นให้ศูนย์ฯ จัดทำข้อมูลส่งแต่ละจังหวัดเพื่อตรวจสอบข้อมูลในเรื่องการคัดกรอง และให้ความรู้ที่ถูกต้อง และการช่วยเหลือการทำ IEP ให้กับครู โรงเรียน และ สพท. อย่างถูกต้อง โดยเน้นย้ำให้มีการจัดทำ IEP ของนักเรียนให้ครบจำนวนที่ลงในระบบ SET เพื่อประโยชน์ของตัวนักเรียนในการจัดสรรงบประมาณ สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก และศูนย์ฯ ต้องกำกับ ติดตาม ตรวจสอบในการจัดสรร คูปอง สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียน ได้ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดด้วย
.
“ทั้งนี้ ขอขอบคุณผู้บริหาร ครู และบุคลากรทุกคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติงานกับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ รวมทั้งการประสานงานด้วยความสะดวกและรวดเร็ว จนได้รับคำชมจากหน่วยงานต่าง ๆ อย่างมากมาย เป็นผลที่ชัดเจนจากการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. รวมถึงนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. โดยว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ลงสู่การปฏิบัติจนเห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้คุณภาพเกิดขึ้นกับผู้เรียน ให้เขาสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ทั้งนี้ ผอ.สศศ. ได้นำเสนอข้อมูลสารสนเทศของเด็กเสี่ยงที่จะเป็น LD ทั่วประเทศ และเด็กพิการเรียนรวมทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ร่วมประชุมรับทราบและหารือแนวทางการดำเนินการร่วมกัน ดังนี้โรงเรียนเฉพาะความพิการ 53 แห่ง มีนักเรียนรวม 12,547 คน ศูนย์การศึกษาพิเศษ 77 แห่ง มีนักเรียนรวม 27,538 คน โรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ 53 แห่ง มีนักเรียนรวม 31,509 คน โรงเรียนรวม 22,760 แห่ง มีนักเรียนรวม 406,253 คน หน่วยบริการ 75 จังหวัด จำนวน 681 แห่ง ศูนย์การเรียนสำหรับนักเรียนในโรงพยาบาล 77 จังหวัด จำนวน 90 แห่ง เป็นศูนย์ของ สศศ. 85 แห่ง และเป็นของกระทรวงสาธารณสุข 5 แห่ง ห้องเรียนคู่ขนาน 156 แห่ง มีนักเรียนรวม 1,984 คน โรงเรียนในสังกัด สศศ. 183 แห่ง มีนักเรียนรวม 71,597 คน