นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมของตลาดรถยนต์ในปีนี้ ว่าได้ปรับเป้าหมายใหม่เหลือเพียง 730,000 คัน จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ 780,000-800,000 คัน หรือดีกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากการปล่อยกู้ที่เข้มงวด ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังสูง โดยปี 66 ยอดขายรวมอยู่ที่ 770,000 คัน ลดลง 9% เทียบกับปีก่อนหน้า โดยเฉพาะไตรมาสที่ 4 ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ทําให้ยอดขายรถปิกอัพลดลงกว่า 30% แต่โตโยต้ากลับมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่กว่า 40% ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่ปี 54

สําหรับยอดขายของโตโยต้าในปีนี้ตั้งไว้ 250,000 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดที่ 34% เทียบกับปีที่ผ่านหรือลดลง 0.3% แม้ว่าการเข้ามาของค่ายผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน และการแนะนำรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อาจส่งผลทำต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้โดยง่าย แต่เมื่อดูตัวเลขจากเมื่อเดือน ม.ค.-ก.พ. ที่ผ่านมา โตโยต้ามีส่วนแบ่งการตลาดที่ 34.8% ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วที่ 34.3% จึงเชื่อว่าน่าจะทำได้ตามเป้าหมาย

นายโนริอากิ กล่าวว่า สัดส่วนยอดขายรถอีวี ในประเทศไทยอยู่ที่ 10% ในขณะที่รถไฮบริดมีสัดส่วนสูงกว่าที่ 12% ดังนั้น ตลาดของรถไฮบริดก็น่าจะขยายตัวออกไปได้อย่างแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยยอดขายของรถอีวี เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เพิ่มจาก 10% ไปเป็น 14% ในขณะที่สัดส่วนยอดขายรถไฮบริดเพิ่มขึ้นสูง จาก 12% เมื่อปีที่แล้ว เป็น 22% ในปีนี้ โดยปีที่ผ่านมายอดขายในตลาดไฮบริดของโตโยต้า ขายได้  31,000 คัน คิดเป็น 30% ของตลาดไฮบริดโดยรวม นอกจากนี้ การเปิดตัวรถยาริส ครอส ก็ได้เสียงตอบรับจากตลาดดีมาก ๆ หากเราดูยอดขายรถไฮบริดในประเทศไทยเดือน ม.ค.-ก.พ. พบว่า สัดส่วนทางตลาดที่โตโยต้าทําได้อยู่ที่สูงกว่า 40%

สำหรับยอดจองของ ยาริส ครอส, โตโยต้า ครอส และ ไฮลักซ์ แชมป์ น่าพอใจ โดย โคโรลล่า ครอสใหม่ เพียง 1 เดือน มียอดจองมากกว่า 3,000 คัน ส่วน ยาริส ครอส เปิดตัวมา 5 เดือน มียอดจองสะสมกว่า 25,000 คัน ด้านไฮลักซ์แชมป์ เปิดจองมา 3 เดือน ได้ยอดจองกว่า 5,000 คัน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ยอดจองของรถทั้ง 3 รุ่น ถือว่าเหนือกว่าเป้าที่ตั้งไว้ จึงคิดว่ายอดขายของรถทั้ง 3 รุ่นนี้ น่าจะไปได้ดีต่อไปเรื่อย ๆ ในปีนี้

“เป้ายอดจองในงานมอเตอร์โชว์ และความมั่นใจที่จะรักษายอดขายอันดับหนึ่ง จากที่ผ่านมา ทางโตโยต้ามียอดจองสูงสุดแทบจะทุกครั้ง ด้วยสัดส่วน 14-15% คาดปีนี้ก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการขาย เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งวางเงินดาวน์ได้ด้วยเครดิตการ์ด เพื่อช่วยสนับสนุนให้ยอดจองภายในงานเป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งแคมเปญโดนใจอีกมาก”


ส่วนกระแสรถอีวีที่เติบโตสูงมาก มาจากรัฐให้สิทธิประโยชน์ สําหรับรถที่นําเข้า 100% ที่จะสิ้นสุดในปี 2025 ส่วนสำหรับรถที่มาประกอบหรือผลิตในประเทศไทย จะสิ้นสุดในปี 2027 อย่างไรก็ตาม ความนิยมรถไฟฟ้าในหลายประเทศเริ่มลดลง ก็เป็นเพราะเทคโนโลยียังก้าวล้ำไปไม่ทันกับความคาดหวังและความต้องการใช้งานจริง อย่างไรก็ตาม โตโยต้ายังรับนโยบายรัฐ ที่อยากจะมีสัดส่วนการใช้รถอีวี ให้ได้ 30% ภายในปี 2030 โดยจะขยายเทคโนโลยีการผลิตแบบ Step-by-step