เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวถึงประเด็นการร้องเรียนเอาผิดทางวินัยนายตำรวจระดับสูง ว่า กระบวนการไม่ได้แตกต่างกันกับกรณีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) มาตรฐานกฎหมายต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งการดำเนินคดีอาญาและการดำเนินการทางวินัย หลังจากที่นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษนายตำรวจระดับสูง รวมถึงตำรวจที่เกี่ยวข้อง และบุคคลอื่นๆ ตามแผนผังที่เกี่ยวข้องกับการรับเงินจากบัญชีม้า โดยขั้นตอนหากพบว่ามีพยานหลักฐานที่จะกล่าวหาบุคคลใด ทางพนักงานสอบสวนจะต้องไปขอออกหมายเรียก หรือหมายจับ ซึ่งจะต้องดำเนินการไปตามกระบวนการหากมีหลักฐานเพียงพอ

ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า อีกประเด็นได้มีการร้องเรียนเพื่อดำเนินการทางวินัยกับนายตำรวจระดับสูง โดยนายษิทรา ได้ไปร้องเรียนที่คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวมี 9 คน โดย 3 ใน 9 เป็นตำรวจที่ผ่านการคัดเลือกตามระบบ คือ พล.ต.ท.สรศักดิ์ เย็นเปรม เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ ส่วนอีก 2 ท่าน คือ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน และ พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร เป็นคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ หรือ ก.ร.ตร. นอกจากตำรวจ 3 ท่าน แล้วทางกฎหมายก็ยังกำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน คัดเลือกผู้แทนมาเป็นกรรมการ 1 คน ส่วนคนที่ 5 ให้สภาทนายความเลือกทนายความที่ว่าความมีประสบการณ์กว่า 20 ปี คือ เลขาฯ สภาทนายความ ส่วนอีก 2 ท่านเป็นผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้คณะกรรมการตุลาการพิจารณาผู้พิพากษาระดับศาลอุทธรณ์ 1 ท่านมาร่วมในคณะนี้ และคณะกรรมการอัยการชั้นผู้ใหญ่ 1 ท่านเข้ามาร่วม แต่ยังขาดอยู่ อย่างไรก็ตาม ทางกฎหมายระบุว่าเมื่อมี 7 คนก็สามารถดำเนินการได้

พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า กรอบและระยะเวลาในการดำเนินการไต่สวนตรวจสอบข้อมูลหลักฐาน หากไม่มีมูลก็สั่งยุติจบไป แต่ถ้ามีมูลสามารถไต่สวนพิจารณาหลักฐานต่างๆ ก่อนส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษได้ มีกรอบระยะเวลา 120 วัน หากระหว่างการไต่สวนพบว่าเป็นการกระทำความผิดวินัยร้ายแรงโทษสูงสุดอาจถึงไล่ออก ปลดออกมีระยะเวลา 270 วัน ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่ได้มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังมีบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมในการพิจารณาด้วย