รายงานข่าวจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช. ครั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 10 เม.ย. สำนักงาน กสทช. ได้รายงานเรื่อง บมจ.ไทยคม ได้ยื่นหนังสือมายังสำนักงาน กสทช. ขอให้ทบทวนหลักเกณฑ์และชะลอการออกใบอนุญาตในกิจการดาวเทียม 2 ประเภท ได้แก่ ใบอนุญาตการให้ดาวเทียมต่างชาติเข้ามาให้บริการในประเทศ (แลนด์ดิ้ง ไรท์) และใบอนุญาตสร้างสถานีรับสัญญาณดาวเทียมภาคพื้นดิน (เกตเวย์ ไลเซนส์) ซึ่งขณะนี้ทาง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับ วันเว็บ (OneWeb) เครือข่ายดาวเทียมบรอดแบนด์ระดับโลกจากประเทศอังกฤษ ในพื้นที่สถานีดาวเทียมสิรินธร จ.อุบลราชธานี เนื่องจากหากมีต่างชาติเข้ามา จะทำให้ได้เปรียบด้านบริการบรอดแบนด์วงโคจรต่ำผ่านดาวเทียม จนทำให้ผู้ประกอบการไทย ไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะมีต้นทุนเรื่องค่าใบอนุญาตที่แพงกว่า

“ที่ประชุมบอร์ด กสทช. ได้สั่งให้ สำนักงานฯ กลับไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก่อนที่จะเสนอเข้าบอร์ดอีกครั้งว่า จะมีแนวทางใดในส่วนนี้ ก็ต้องยอมรับว่าต้องเห็นใจผู้ประกอบการเอกชนไทยเหมือนกัน ที่เข้ามาประมูลวงโคจรดาวเทียมจาก กสทช.”

ด้าน พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นที กล่าวว่า ถึงประเด็นดังกล่าวว่า วันเว็บ ได้เลือกเอ็นทีเป็นพันธมิตรเพราะเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นตัวแทนจากรัฐบาล และมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฮับด้านดาวเทียมวงโคจรต่ำ (ลีโอ) ในภูมิภาค ซีแอลเอ็มวี โดยสถานีสิรินธร จะใช้เป็นสถานีเกตเวย์ภาคพื้นดิน ทำหน้าที่บริหารจัดการเครือข่ายดาวเทียม โดยเดิมนั้น มีกำหนดให้บริการไตรมาส 2 ปี 66 แต่ขณะนี้ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมราว 1 ปี เมื่อต้นปี 67 งานก่อสร้างทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ว 100% ตอนนี้รอเพียงใบอนุญาตให้บริการจาก กสทช.

“ถ้าโครงการนี้สำเร็จ และให้บริการได้ในเฟสแรก เอ็นทีจะมีรายได้จากวันเว็บ ประมาณ 80-100 ล้านบาท ตอนนี้ทำได้เพียงรอ ซึ่งพูดตามตรง ก่อนที่ไทยคมจะส่งหนังสือไปยัง กสทช. ก็ได้มาบอกก่อน เพราะเอ็นทีกับไทยคม ก็เป็นพันธมิตรกันมายาวนาน ประเด็นนี้ผมไม่ขอพูดว่าผิดหรือถูก ให้เป็นทางบอร์ด กสทช. พิจารณา“ พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าว