ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาโคเนื้อ-กระบือ และผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (Beef Board) ครั้งที่ 1/2567 ว่าที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ “โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ เพื่อเพิ่มรายได้สำหรับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย” (โคเพิ่มรายได้) วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยได้รับแม่โคเป็นของตนเองให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งกระตุ้น ฟื้นฟูตลาดการซื้อขายโคภายในประเทศ ระยะเวลาดำเนินการ ปีงบประมาณ 2567–2569 (3 ปี) โดยของบกลางสนับสนุนค่าจัดซื้อแม่พันธุ์โคให้กับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย จำนวน 4,000 ราย ได้รับการสนับสนุนโคเนื้อเลี้ยงเป็นอาชีพ ซึ่งจะเตรียมหารือกับสำนักงบประมาณ และเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ ต่อไป

เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาโคเนื้อ–กระบือ และผลิตภัณฑ์แห่งชาติ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แก้ปัญหาราคาตกต่ำ เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ประชุมจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งเพิ่มเติม 3 คณะ ดังนี้ 1. ยกเลิกคำสั่งเดิม ที่ 648/2561 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 และแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพัฒนาโคเนื้อ–กระบือ และผลิตภัณฑ์แห่งชาติขึ้นใหม่ โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน ลงวันที่ 31 มกราคม 2567 2. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการการรักษาตลาดการบริโภคเนื้อโค–กระบือ และผลิตภัณฑ์ โดยมี นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และ 3. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตโคเนื้อ–กระบือ เพื่อจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิต สำหรับประกอบการกำหนดนโยบายด้านโคเนื้อและกระบือของประเทศไทยได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยมี เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นประธาน

สำหรับสถานการณ์การผลิตและการตลาดโคเนื้อ–กระบือ ของไทย ปี 2567 ดังนี้  ด้านการผลิต : โคเนื้อ ในปี 2567 คาดการณ์ว่าโคเนื้อมีจำนวน 9.95 ล้านตัว เกษตรกรจำนวน 1.44 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวนโคเนื้อ 9.65 ล้านตัว คิดเป็นร้อยละ 3 คาดการณ์ว่าผลผลิตโคเนื้อจะมีจำนวน 1.399 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2566 คิดเป็นร้อยละ 7.84 เนื่องจากในปี 2566 ประเทศไทยมีการเจรจาเปิดตลาดโคเนื้อมีชีวิตกับหลายประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งออกโคเนื้อได้เพิ่มขึ้นในปี 2567 ประกอบกับการท่องเที่ยวภายในประเทศมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อรองรับความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในส่วนของกระบือ คาดการณ์ปี 2567 มีจำนวนกระบือรวมทั้งสิ้น 1.8 ล้านตัว เกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือ 310,836 ราย คาดว่าผลผลิตกระบือจะมีจำนวน 418,000 ตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีประมาณ 3.5 แสนตัว หรือร้อยละ 16.08

ด้านการตลาด : โคเนื้อ ราคาโคเนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ ณ เดือนมีนาคม 2567 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 78.10 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 86.52 บาท หรือลดลงร้อยละ 9.74 ในส่วนของกระบือ ราคากระบือมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ ณ เดือนมีนาคม 2567 ราคาเฉลี่ย 31,709 บาทต่อตัว ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ราคา 39,679 บาทต่อตัว หรือลดลงร้อยละ 20.09

ด้านการนำเข้า-ส่งออก : โคเนื้อ ปี 2567 (ตั้งแต่ ม.ค.-ก.พ.)  นำเข้าเนื้อโคสดและเนื้อโคแปรรูป จำนวน 5,130.58 ตัน มูลค่า 1,301.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 4,407.04 ตัน มูลค่า 1,143.81 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.42 โดยนำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย มากที่สุด การส่งออกโคมีชีวิต จำนวน 15,326 ตัว มูลค่า 372.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 9,666 ตัว มูลค่า  275.41 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 58.56 ตลาดคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย ลาว การส่งออกเนื้อโคสดและเนื้อโคแปรรูป จำนวน 98.03 ตัน มูลค่า 15.16 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 189.69 ตัน มูลค่า 26.70 ล้านบาท ในส่วนของกระบือ ผลิตภัณฑ์กระบือปี 2567 (ตั้งแต่ ม.ค.-ก.พ.) มีการนำเข้าหนังกระบือหมักเกลือ จำนวน 348.74 ตัน มูลค่า 6.39 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีการนำเข้าหนังกระบือหมักเกลือ 273.20 ตัน มูลค่า 7.00 ล้านบาท โดยปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.65 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 8.69 ในช่วงเวลาดังกล่าวส่งออกเฉพาะกระบือมีชีวิตจำนวน 5,560 ตัว มูลค่า 100 ล้านบาท ประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ ลาว