ที่คนนิยมสั่งอาหารและเครื่องดื่มแบบดิลิเวอรี่กันเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้พลาสติกจากบรรจุภัณฑ์มีจำนวนเพิ่มตามไปด้วย โดยในแต่ละคำสั่งซื้อจะมีขยะพลาสติกมากขึ้นจำนวน 5-10 ชิ้น ส่งผลให้ขยะพลาสติกโดยรวมเพิ่มขึ้นในเกือบทุกเมือง
ฟู้ดแพนด้า แพลตฟอร์มออนไลน์การสั่งซื้ออาหาร ร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ World Wide Fund for Nature รณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเนื่องใน “วันคุ้มครองโลก” หรือเอิร์ธ เดย์ ตรงกับวันที่ 22 เมษายน ของทุกปี ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการ “บริหารจัดการขยะพลาสติก” ให้กับประชาชน เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ และร่วมแก้ปัญหาพลาสติก ตั้งแต่การลดปริมาณขยะที่หลุดออกไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดหรือฝังกลบ ตลอดจนช่วยลดงบประมาณที่ต้องสูญเสียไปกับการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีปริมาณมหาศาลในปัจจุบัน
โดยเฉพาะ “พลาสติกจากบรรจุภัณฑ์อาหาร” ที่เกิดจากการสั่งอาหารแบบดิลิเวอรี่ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเชิญชวนทุกคนมาลงมือทำทุกวันให้กลายเป็นวันเอิร์ธ เดย์ ด้วย 6 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการจัดการขยะพลาสติก ก่อนที่จะถูกนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล ดังนี้
1. ล้างกล่อง-กล่องพลาสติกที่มีคราบอาหาร ถือเป็น “ขยะกำพร้า” ที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ดังนั้นต้องทำความสะอาดกล่องให้ปราศจากเศษอาหาร เพื่อให้สะดวกต่อกระบวนการรีไซเคิล
2. ลอกสติกเกอร์ออกจากกล่อง-กล่องอาหารส่วนใหญ่มักติดฉลากบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลไม่ได้ เช่น สติกเกอร์ติดกล่องหรือเทปกาว ดังนั้นนอกจากทำความสะอาดแล้ว ก็ควรแกะสิ่งเหล่านี้ออกเพื่อแยกขยะด้วย
3. แยกประเภทพลาสติก-ขยะพลาสติกมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นถุงหูหิ้ว บรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็ง ฟิล์มห่ออาหาร หลอด กล่องบรรจุอาหาร ฝาขวดนํ้า ฯลฯ ซึ่งควรคัดแยกก่อนทิ้งลงถัง เพื่อให้การจัดการในกระบวนการรีไซเคิลมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4. บีบหรือพับให้แบน-บรรจุภัณฑ์พลาสติกต่าง ๆ อย่างกล่องอาหารหรือขวดนํ้าพลาสติกที่สามารถบีบหรือพับให้เล็กลงได้ จะช่วยประหยัดพื้นที่ในถังขยะและรถขยะ ให้สามารถบรรรจุขยะได้มากขึ้น
5. ทิ้งขยะให้ถูกถัง-ปัจจุบันถังขยะมีการจำแนกประเภทตามสีต่าง ๆ อย่างชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องรับผิดชอบในการทิ้งขยะลงถังให้ถูกประเภท และให้แน่ใจว่าขยะที่ทิ้งนั้นไม่ปะปนรวมกัน
6. ส่งต่อเทคนิคนี้ให้เพื่อนและครอบครัว-บอกต่อวิธีการจัดการขยะดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นให้กับคนรอบตัว เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ถึงปัญหาและประโยชน์ของการจัดการขยะพลาสติกก่อนรีไซเคิล.