บทความของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2567 เผยผลจากงานวิจัยหลายชิ้นที่กล่าวถึงอาหารที่ปนเปื้อนอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กหลายประเภท โดยมีรายงานกรณีศึกษาเมื่อเดือน ก.พ. 2567 ระบุถึงการตรวจพบว่า 90% ของตัวอย่างอาหารประเภทโปรตีนจากพืชและสัตว์ มีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก ซึ่งหมายถึงเศษพลาสติกขนาดเล็กตั้งแต่ 0.2 นิ้วไปจนถึง 1/25,000 นิ้ว

จากกรณีศึกษาเมื่อปี 2564 ก็ชี้ว่าถ้าหากเศษพลาสติกมีขนาดเล็กมากระดับอนุภาค พืชผักและไม้ผลก็อาจดูดซึมเศษพลาสติกเหล่านี้ผ่านทางรากและส่งผ่านเศษพลาสติกเข้าไปยังส่วนของลำต้น ใบ ผลและเมล็ด

ด้านเครื่องปรุงรสอย่างเกลือก็หนีไม่พ้นการปนเปื้อนนี้เช่นเดียวกับน้ำตาล กรณีศึกษาจากปี 2566 พบว่า พื้นที่เก็บเกี่ยวเกลือหิมาลัยสีชมพูนั้นมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในดินมากที่สุด โดยมีอันดับรองลงมาคือเกลือหิมาลัยสีดำและเกลือสมุทร

แม้กระทั่งเครื่องดื่มยอดนิยมอย่างชาถุงสำหรับชงดื่ม ซึ่งหลายยี่ห้อใช้ถุงบรรจุที่ทำจากพลาสติก ก็สามารถปล่อยอนุภาคพลาสติกออกมา ตามที่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมคกิลล์แห่งแคนาดาค้นพบว่า ชาถุงสำเร็จรูป 1 ถุง สามารถปล่อยไมโครพลาสติกจำนวน 11,600 ล้านชิ้น และนาโนพลาสติกอีก 3,100 ล้านชิ้นในน้ำที่ชงดื่ม

อาหารหลักของคนเอเชียอย่างข้าวก็มีการปนเปื้อนพลาสติกตามกรณีศึกษาของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ซึ่งพบว่าข้าวจำนวน 100 กรัมที่เราบริโภคเข้าไปนั้น ร่างกายของเราจะได้รับอนุภาคพลาสติกราว 3-4 มิลลิกรัมเข้าไปด้วย และมีวิธีช่วยลดการปนเปื้อนได้คือ อย่าใช้ข้าวแบบกึ่งหุงสำเร็จ (Instant rice) และการซาวข้าวก่อนหุงจะช่วยลดการปนเปื้อนพลาสติกได้สูงสุดถึง 40%

น้ำดื่มบรรจุขวดก็เป็นเครื่องดื่มที่พบว่ามีอนุภาคพลาสติกปนเปื้อนได้เป็นจำนวนมาก จากกรณีศึกษาที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาว่า พบว่าน้ำดื่ม 1 ลิตรมีอนุภาคพลาสติกปนอยู่ถึง 7 ประเภท ในจำนวนเฉลี่ย 240,000 ชิ้น

ในกรณีศึกษาที่เผยแพร่ในเดือน ก.พ. 2567 โดยวารสาร Environmental Research ทีมวิจัยได้ทดสอบอาหารแช่แข็งประเภทโปรตีนที่คนนิยมรับประทานกันโดยทั่วไปหลายชนิด ได้แก่ เนื้อวัว, กุ้งและกุ้งชุบแป้งทอด, อกไก่และนักเก็ตไก่, เนื้อหมู, อาหารทะเล, เต้าหู้และอาหารประเภทแพลนต์เบสต่าง ๆ 

ผลการตรวจสอบพบว่า กุ้งชุบแป้งทอดมีอนุภาคพลาสติกปนเปื้อนมากที่สุด โดยมีไมโครพลาสติกอยู่ราว 300 ชิ้นต่อจำนวนเสิร์ฟ 1 ที่ ส่วนอันดับที่ 2 ได้แก่ นักเก็ตแพลนต์เบส มีไมโครพลาสติก 100 ชิ้นต่อจำนวนเสิร์ฟ 1 ที่

อันดับต่อมาคือนักเก็ตไก่ ตามด้วยชิ้นปลาคลุกแป้งขนมปัง, เนื้อกุ้งสดและปลาแพลนต์เบสคลุกแป้งขนมปัง

ส่วนอาหารที่มีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกน้อยที่สุดคือเนื้ออกไก่ ตามด้วยเนื้อหมูสันในและเต้าหู้

นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยในปี 2563 ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Environmental Science ระบุว่าตรวจสอบพบอนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมโครเมตร (เทียบได้กับเส้นผ่านศูนย์กลางของเม็ดฝน 1 หยด) จำนวน 52,050-233,000 ชิ้นในผักและผลไม้หลายชนิด 

รายงานวิจัยระบุว่า แอปเปิลและแครอทคือผักผลไม้ที่มีการปนเปื้อนมากที่สุดด้วยจำนวนไมโครพลาสติก 100,000 ชิ้นต่อน้ำหนัก 1 กรัม โดยอนุภาคชิ้นเล็กที่สุดพบในแครอท ชิ้นใหญ่ที่สุดพบในผักกาดหอม ซึ่งเป็นผักที่มีการปนเปื้อนพลาสติกน้อยที่สุด

ไมโครพลาสติกนั้นมีอยู่แทบจะทุกหนทุกแห่งและยากจะหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำบางข้อสำหรับการบริโภคอาหารเพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะรับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายไว้ว่า ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์พลาสติก ถ้าเป็นไปได้ในการเลือกซื้ออาหารที่บรรจุในขวดแก้วหรือห่อกระดาษฟอยล์

ถ้าเป็นไปได้ให้รับประทานอาหารที่มีความสด ปรุงสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงอาหารแช่แข็งหรืออาหารที่ผ่านการแปรรูป รวมถึงอาหารที่ห่อด้วยพลาสติก นอกจากนี้ยังไม่ควรใช้ภาชนะพลาสติกเมื่อต้องการอุ่นอาหารให้ร้อนด้วยเตาไมโครเวฟ แต่ควรเปลี่ยนถ่ายอาหารใส่ภาชนะประเภทแก้วเสียก่อน หรืออุ่นอาหารด้วยเตาประเภทอื่น 

ที่มา : edition.cnn.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES