เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 21 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้มีการเคาะค่า FT ใหม่ ส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการต้องชำระค่าไฟที่สูงขึ้น สวนทางกับกระแสเศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัว ทำให้ประชาชนและภาคเอกชนต้องเผชิญกับภาวะค่าไฟแพง เครื่องสร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการและประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ใช้พลังงานเป็นต้นทุน เช่น ผู้ประกอบกิจการโรงแรมและที่พัก ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด ก็ได้รับผลกระทบหนักอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีการขึ้นค่าไฟฟ้า ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้น

นายธนศรณ์ ธนพิทักษ์ เจ้าของผู้ประกอบการที่พัก อุโมงค์เพลส ย่านตำบลสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ค่าไฟขึ้นราคาได้สร้างภาระให้กับธุรกิจโรงแรมและที่พักเป็นอย่างมาก ในการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เพราะหากจะปรับขึ้นราคาห้องพัก ก็ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวไม่เข้ามาใช้บริการ เนื่องจากเชียงใหม่มีที่พักและโรงแรมค่อนข้างมาก แต่ก็แบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ไหว ต้องมีการปรับขึ้นราคา ซึ่งนอกจากจะกระทบต่อประชาชนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ตนจึงอยากให้รัฐบาลมีการตรึงค่าไฟฟ้าเอาไว้ก่อน เพื่อพยุงให้ผู้ประกอบการ ธุรกิจการท่องเที่ยวได้ฟื้นตัวหลังจากผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระบาด ซึ่งเศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่กำลังฟื้นตัว นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเหลือประชาชน เพราะการที่ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น นอกจากจะกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่จะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นอีกด้วย

นายเข็มชาติ สมใจวงษ์ เจ้าของโรงแรมราชาวดีรีสอร์ทแอนด์โฮเต็ล จ.ขอนแก่น กล่าวว่า มาตรการประหยัดพลังงาน ทั้งการสลับการเปิดปิดไฟแสงสว่าง การหมุนเวียนการใช้เครื่องปรับอากาศ และการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในจุดต่างๆ ทั่วทั้งโรงแรม ได้มีการดำเนินการมาอย่าต่อเนื่องทุกเดือน แต่ก็บรรเทาความเดือดร้อนจากราคาค่าไฟเดือนนี้ได้ไม่มากนัก ซึ่งในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ค่าไฟอยู่ที่ 160,000 บาท มาเดือน เม.ย. นี้ ซึ่งเพิ่งได้รับบิลค่าไฟเมื่อวานที่ผ่านมา ราคาปรับขึ้นถึง 220,000 บาท ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนอย่างมาก

“ค่าไฟแพง ปริมาณลูกค้าที่มาพักห้องพัก, ลูกค้าที่มาจัดงานหรือลูกค้ามาทานอาหาร หรือใช้พื้นที่ต่างๆ ของโรงแรมก็ทรงตัว จะมากก็ช่วงต้นเดือน เม.ย. แต่หลังสงกรานต์ไป ลูกค้าก็เบาบางลง แต่ค่าไฟก็ไม่ลดลง ซึ่งโรงแรมเจอปัญหาแบบนี้ทุกปี ก็ได้แต่ทำใจ เพราะทำอะไรไม่ได้ เพราะการไฟฟ้าแจ้งว่าเป็นค่าเฉลี่ยของค่าเอฟที ที่ต้องดำเนินการในเดือนนี้ จึงได้แต่ประสานเรื่องการผ่อนชำระ หรือการยืดหยุ่นห้วงเวลาการจ่ายต่อไป” นายเข็มชาติ กล่าวและว่า เดือนนี้เป็นจุดพีคสุดของค่าไฟที่ทุกคนต้องได้รับ และคาดว่าค่าไฟจะทรงตัวไปอีก 2-3 เดือน และจะค่อยทยอยลดลง ตามการบริหารจัดการของการไฟฟ้า

นายเข็มชาติ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการก็ต้องแบกรับต้นทุนต่อไป เพราะทำอะไรไม่ได้ ได้แต่บ่น และต้องกลับมาทบทวนแผนการบริหารจัดการในด้านต่างๆ ของตนเองให้มากขึ้น ว่าอะไรที่จะลดได้ แต่ทั้งนี้ ด้วยระบบโรงแรม ทุกอย่างต้องเท่าเดิม และเหมือนเดิม ซึ่งเป็นรายจ่ายประจำที่ต้องจ่าย แต่ปริมาณงานลดลง ลูกค้าไม่มี รัฐบาลก็ควรที่จะเร่งส่งเสริมและสนับสนุนปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ให้มากขึ้นและเร็วขึ้น โดยเฉพาะกับการเบิกจ่ายของภาครัฐและการประชุม สัมมนาต่างๆ เพราะเมื่อต้องจ่ายค่าไฟแพง การช่วยเหลือที่จะสร้างรายรับให้กับผู้ประกอบการ รัฐบาลก็ต้องคำนึงและมองเห็นในจุดนี้ด้วยเช่นกัน