เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท. พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.2 บก.ปอท. พ.ต.อ.ชิษณุพงศ์ ไหวดี ผกก.3 บก.ปอท. ร่วมแถลงข่าวการจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รายใหญ่ 2 คดี ผู้ต้องหารวม 6 คน พร้อมของกลางจำนวนมาก

พล.ต.ท.จิรภพ เปิดเผยว่า สำหรับคดีแรกตำรวจ กก.2 บก.ปอท. ได้จับกุมนายเชน ยินไล อายุ 32 ปี สัญชาติจีน และ นายอนันต์ (สงวนนามสกุล) อายุ 44 ปี สองผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันทุจริตโดยนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ, มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, สมคบฟอกเงิน” พร้อมของกลางเงินสด 11 ล้านบาท, คอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง, โทรศัพท์ 7 เครื่อง, สมุดบัญชีธนาคาร 8 เล่ม, บัตรกดเงินสด 13 ใบ, รถยนต์ 5 คัน, เครื่องนับเงินสด 1 เครื่อง และทรัพย์สินอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 42 ล้านบาท โดยจับกุม นายเชน ได้ในบ้านพักหรูย่านถนนราชพฤกษ์ แขวงบางจาก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ส่วนนายอนันต์ ได้ตัวใน จ.ฉะเชิงเทรา

พ.ต.อ.สุพจน์ กล่าวว่า สำหรับการจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้งสอง สืบเนื่องจากช่วงปลายปี 66 ตำรวจได้จับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สร้างเว็บไซต์กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ปลอมขึ้นมา เพื่อหลอกลวงเงินผู้คนได้ 5 ราย ก่อนขยายผลเรื่อยมา กระทั่งพบนายเชน และนายอนันต์ ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลบริหารจัดการกระเป๋าดิจิทัลที่ใช้ในการทำผิด และแปลงสินทรัพย์ดิจิทัลให้กลายเป็นเงินสด จึงได้ขอศาลออกหมายจับและเข้าค้นเป้าหมาย 8 จุดใน กทม. สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา 2 จุด และ นครราชสีมา จนนำมาสู่การจับกุมตัวได้พร้อมของกลางดังกล่าว นอกจากนี้ยังทำการเชิญตัวผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาสอบปากคำอีก 5 ราย

พ.ต.อ.สุพจน์ กล่าวต่อว่า จากการสอบสวนนายเชน และนายอนันต์ ให้การปฏิเสธ แต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของกลางที่ตรวจยึดได้จากนายเชน พบว่ามีการใช้แอปพลิเคชันหนึ่งในการบริหารจัดการกระเป๋าดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสมาชิกแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนหลายใบ มียอดเงินหมุนเวียนของกระเป๋ารวมกว่า 7 หมื่นล้านบาท รวมถึงมีข้อมูลตรงกับระบบรับแจ้งความออนไลน์กว่า 30 คดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายเชน ถือเป็นตัวการสำคัญในขบวนการคนร้าย ซึ่งทำหน้าที่ฟอกเงินแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัลเป็นเงินสกุลต่างๆ ให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีฐานปฏิบัติการในประเทศกัมพูชา อีกทั้งตัวของ นายเชน ยังใช้ชื่อของบุคคลอื่นที่มีสัญชาติไทยในการทำธุรกรรม เพื่อซื้อและถือครองทรัพย์สินหลายรายการด้วยเงินสด อาทิ บ้านเดี่ยว 2 ชั้น, ที่ดิน, รถยนต์และทรัพย์สินมีค่าเครื่องประดับ อีกทั้งจากการตรวจสอบวีซ่าของ นายเชน ยังพบว่าเป็นวีซ่าประเภทอีลิท การ์ด แพ็กเกจแบบ 5 ปี และในวันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม ยังพบภรรยาสัญชาติจีนของ นายเชน พักอาศัยอยู่ด้วยกันกับลูก 3 คน โดย นายเชน ได้ให้ภรรยาของตนจดทะเบียนสมรสกับชายไทยและให้ชายไทยคนดังกล่าวรับเป็นบิดาของลูกทั้ง 3 คน โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ลูกที่เกิดมาได้รับสัญชาติไทยอีกด้วย

ด้าน พ.ต.อ.ชิษณุพงศ์ กล่าวว่า สำหรับคดีที่สอง เจ้าหน้าที่ได้จับกุมขบวนการลักลอบขนทีมงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ข้ามพรมแดนธรรมชาติ บริเวณ อ.อรัญประเทศ ประกอบด้วย นายเฉิน อายุ 31 ปี สัญชาติจีน ในความผิดฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย” และตรวจสอบพบว่าเป็นบุคคลตามหมายจับของตำรวจสากล (Red Notice) ในความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ความเสียหายกว่า 40 ล้านหยวน, ร.ต.ท.อังคะ อายุ 70 ปี อดีตตำรวจ, นายดาเล็ก อายุ 35 ปี และ นายซุ่น อายุ 31 ปี ทั้งสอง สัญชาติกัมพูชา ตามหมายจับ “ร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรหรือกระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักรฯ” โดยจับกุม นายเฉิน ได้บนทางหลวงหมายเลข 33 อ.เมือง จ.สระแก้ว ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือจับได้ที่ตลาดโรงเกลือ ต.คลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

พ.ต.อ.ชิษณุพงศ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากศูนย์ AOC: Anti Online Scam Operation Center กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ได้สืบสวนเกี่ยวกับการเปิดบัญชีธนาคารเพื่อนำไปใช้ในการกระทำความผิดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยพบว่ามีนายหน้าเข้าไปติดต่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ จ.สระแก้ว ให้เปิดบัญชีธนาคารแบบออนไลน์และเดินทางข้ามชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อไปทำหน้าที่สแกนหน้ารับเงิน เมื่อมีเงินจากผู้เสียหายโอนเข้ามาที่บัญชีม้าและทำรายการโอนเงินให้กับเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์

พ.ต.อ.ชิษณุพงศ์ กล่าวต่อว่า จากการสืบสวนพบว่า บุคคลที่ถูกว่าจ้างให้ไปเปิดบัญชีม้าเหล่านี้ จะเดินทางออกไปจากไทย ด้วยเส้นทางธรรมชาติบริเวณตลาดผลไม้ (ภายในพื้นที่ตลาดโรงเกลือ) ต.คลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และยังพบว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีการเดินทางออกไป เฉลี่ยวันละ 60-70 คน โดยมีนายทุนชาวกัมพูชาชื่อ “ดาใหญ่” เป็นผู้เก็บเงิน ครั้งละ 3,000 บาทต่อคนต่อครั้ง นอกจากนี้ตรวจสอบพบอีกว่า เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางเดียวกันกับที่ชาวจีน ซึ่งเป็นเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้ในการหลบหนีเข้ามาในประเทศไทยอีกด้วย

พ.ต.อ.ชิษณุพงศ์ กล่าวอีกว่า จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เฝ้าสังเกตการณ์เรื่อยมา กระทั่งพบว่ามีกลุ่มชาวจีน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้เดินทางลักลอบเข้ามาในไทยผ่านเส้นทางดังกล่าวจริง จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงสกัดจับนายเฉิน ขณะกำลังนั่งรถรับจ้างเดินทางไป กทม. เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศลาว และจากการตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจีนพบว่า เป็นบุคคลที่มีการออกหมายจับของตำรวจสากล (Red Notice Interpol) และรัฐบาลจีนต้องการนำตัวกลับไปดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งในส่วนนั้นมีผู้เสียหายจำนวน 121 ราย คิดเป็นความเสียหายกว่า 40 ล้านหยวน

พ.ต.อ.ชิษณุพงศ์ กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบทราบว่า นายเฉิน มีหน้าที่ในวางแผนทางการเงินของเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การจัดการองค์กรและการฟอกเงิน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำตัวส่ง สภ.เมืองสระแก้ว ดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง และผลักดันตัวคนร้ายเพื่อไปดำเนินคดีต่อในประเทศจีน ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือพบว่ามีหน้าที่รับจ้างนำแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลักลอบเข้าประเทศกัมพูชา ทางช่องทางธรรมชาติ โดยคิดค่าหัวคนละ 3,000 บาท ก่อนนำตัวส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปอท. ดำเนินการตามกฎหมาย จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งติดตามตัว นายดาใหญ่ ที่ยังหลบหนี มาดำเนินคดีต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าว พล.ต.ท.จิรภพ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ AOC กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมตัวแทนจากธนาคารพาณิชย์ ยังได้ส่งมอบเงินสด 1.8 ล้านบาท กลับคืนให้กับคุณยายผู้เสียหายรายหนึ่ง หลังสามารถให้การช่วยเหลืออายัดเงินจำนวนดังกล่าวได้ทันเวลา ขณะกำลังถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงเงิน.