สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ว่านักโบราณคดีเปิดเผยใบหน้าของหญิงยุคหินอายุ 75,000 ปีที่ได้รับการบูรณะใหม่ หลังมีการสันนิษฐานว่า มนุษย์สายพันธุ์นี้ต่างโหดร้ายและไม่มีอารยะ

‘ชานิดาร์ ซี’ มาจากชื่อของถ้ำในดินแดนเคอร์ดิสถานของอิรัก สถานที่ซึ่งนักสำรวจพบกะโหลกศีรษะของเธอ เมื่อปี 2561 โดยในการค้นพบครั้งล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปสำรวจความลึกลับ ของหญิงยุคหินวัย 40 กว่าปี ผู้นอนอยู่ใต้ป้ายหินแนวตั้งขนาดใหญ่

มีการสันนิษฐานว่าโครงกระดูกช่วงล่างของเธอถูกขุดขึ้นมา เมื่อปี 2503 ระหว่างการขุดค้นที่แหวกแนวของ นายราล์ฟ โซเลคกี นักโบราณคดีชาวอเมริกัน ผู้ค้นพบซากของมนุษย์ยุคหินอย่างน้อย 10 ราย

การค้นพบเหล่าร่างมนุษย์โบราณที่รายล้อมไปด้วยละอองเกสรดอกไม้ ส่งผลให้เกิดการถกเถียงว่า นี่อาจเป็นหลักฐานของพิธีกรรมงานศพ โดยมีผู้เสียชีวิตนอนอยู่บนเตียงดอกไม้

ความยากลำบากเนื่องจากเหตุผลการเมือง ส่งผลให้กลุ่มนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล จอห์น มัวร์ส ใช้เวลาประมาณ 5 ทศวรรษ ในการขออนุญาตเข้าไปสำรวจในเทือกเขาซากรอส ทางตอนเหนือของอิรัก

มนุษย์ยุคหินกลุ่มสุดท้ายตายอย่างลึกลับเมื่อประมาณ 40,000 ปีก่อน เพียงไม่กี่พันปีหลังจากที่มนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลก ขณะที่กะโหลกศีรษะของชานิดาร์ ซี มนุษย์ยุคหินที่ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดีที่สุด เท่าที่เคยค้นพบในศตวรรษนี้ ถูกทำให้แบนจนหนาเพียง 2 เซนติเมตร นักโบราณคดีคาดว่า อาจเกิดจากหินซึ่งถล่มลงมาทับร่างของเธอ หลังเสียชีวิตได้ไม่นาน

ศาสตราจารย์แกรม บาร์เกอร์ จากสถาบันแมคโดนัลด์เพื่อการวิจัยทางโบราณคดี แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้นำทีมขุดค้นถ้ำชานิดาร์ อธิบายว่า ทีมนักโบราณคดี “ไม่เคยคาดหวัง” ว่าจะได้เจอกับมนุษย์ที่เก่าแก่ไปมากกว่านี้ “เราต้องการสืบหาวันตายของมนุษย์โบราณ เราลงพื้นที่เพื่อสืบหาสาเหตุการตายที่ยังเป็นปริศนา โดยเราค้นพบชิ้นส่วนเหล่านี้หลังจากทำการค้นหา” เธออธิบาย

ชานิดาร์ ซี เป็นซากมนุษย์โบราณลำดับที่ 5 ที่ถูกพบ พร้อมกับร่างอื่น ๆ ที่ถูกฝังอยู่ด้านหลังหินใจกลางถ้ำอย่างน้อยหลายร้อยปี นักโบราณคดีเชื่อว่าหินเหล่านี้ถูกใช้เพื่อระบุตัวตน และให้คนอื่น ๆ ที่เดินทางไปมา สามารถย้อนกลับไปยังจุดเดิมเพื่อฝังศพตัวเองได้

ในขณะเดียวกัน ผลการวิจัยล่าสุดโดยนักสำรวจจากทีมของ ศาสตราจารย์คริส ฮันต์ จากมหาวิทยาลัยจอห์น มัวร์ส ชี้ให้เห็นว่า ละอองเกสรดอกไม้ที่ก่อให้เกิดทฤษฎี “การฝังศพดอกไม้” ที่เป็นข้อถกเถียงกัน อาจมาจากผึ้งที่ขุดหลุมลงไปในพื้นถ้ำ

อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ฮันต์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า มีค้นพบหลักฐานอื่น ๆ อาทิ ซากของมนุษย์โบราณที่เป็นอัมพาตบางส่วน ซึ่งนายราล์ฟ โซเลคกี ค้นพบ มีแนวโน้มว่ามนุษย์สายพันธุ์นี้มีความเห็นอกเห็นใจมากกว่าที่นักโบราณคดีเคยคาดไว้ “การค้นพบครั้งใหญ่ของนายราล์ฟขณะทำการสำรวจ ‘ชานิดาร์ 1’ ผู้มีแขนที่ลีบ โรคข้ออักเสบ และอาการหูหนวก การที่เขาต้องได้รับการดูแล บ่งบอกว่าคนเหล่านี้อาจมีความเห็นอกเห็นใจ”

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า การวางตำแหน่งของร่างไว้ในจุดเดียวกัน, ตำแหน่งเดียวกัน และหันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน บ่งบอกถึง “ประเพณี” และ “การถ่ายทอดความรู้ระหว่างรุ่น”

“มันเป็นพฤติกรรมที่มีความหมาย ที่ไม่อาจพบเจอได้ในตำราเกี่ยวกับมนุษย์ยุคหิน ที่กล่าวว่าชีวิตของเขาน่ารังเกียจ, โหดเหี้ยม และแสนสั้น” เขากล่าวเสริม

ดร.เอ็มมา โพเมอรอย

ดร.เอ็มมา โพเมอรอย นักมานุษยวิทยาบรรพชีวินวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้ค้นพบชานิดาร์ ซี กล่าวว่า การค้นพบกะโหลกศีรษะและร่างกายส่วนบนของเธอทั้ง “น่าตื่นเต้น” และ “น่ากลัว”

ทั้งนี้ โครงกระดูกและหลักฐานทางโบราณคดีโดยรอบ ได้ถูกเสริมความแข็งแรง ด้วยสารที่มีลักษณะคล้ายกาว ก่อนที่จะถูกนำออกไปโดยการห่อด้วยฟอยล์ขนาดเล็กหลายสิบบล็อก

จากนั้น หัวหน้านักอนุรักษ์ได้ทำการประกอบชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะมากกว่า 200 ชิ้นเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการสร้างใบหน้าสำหรับสารคดีในเว็บไซต์เน็ตฟลิกซ์ เรื่อง “ความลับของนีแอนเดอร์ทาล” ที่เพิ่งออกฉาย

ดร.โพเมอรอย กล่าวว่า งานนี้เป็นเหมือน “จิกซอว์สามมิติที่มีเดิมพันสูง” โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่มีความละเอียดอย่างยิ่งคล้ายคลึงกับ “บิสกิตที่จุ่มในชา”

กะโหลกที่สร้างขึ้นใหม่ถูกพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อให้นายเอดรี และนายอัลฟอนส์ เคนนิส ฝาแฝดศิลปินบรรพชีวินวิทยาชาวเนเธอร์แลนด์ สร้างใบหน้าขึ้นมาใหม่ โดยการใช้ชั้นของกล้ามเนื้อและผิวหนัง ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะสำหรับสารคดี ที่ผลิตโดย บีบีซี สตูดิโอส์ แผนกวิทยาศาสตร์

ดร.โพเมอรอย กล่าวว่า กะโหลกศีรษะของมนุษย์ยุคหินดูแตกต่างจากมนุษย์เป็นอย่างมาก เพราะ “สันคิ้วขนาดใหญ่และไม่มีคาง” อย่างไรก็ดี ใบหน้าที่ถูกสร้างขึ้นใหม่แสดงให้เห็นว่า ความแตกต่างเหล่านั้น “ไม่ได้ดูเด่นชัดในความเป็นจริง”

นอกจากนั้น เธอเน้นย้ำถึงการผสมพันธุ์ระหว่างมนุษย์ยุคหินและมนุษย์ ซึ่งส่งผลให้มนุษย์ในยุคปัจจุบันแทบทุกคนมีดีเอ็นเอของมนุษย์ยุคหิน.

เครดิตภาพ : AFP