เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ห้องประชุม สำนักการโยธา กทม.2 ดินแดง นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัด กทม. เป็นประธานประชุมติดตามมาตรการป้องกันอุบัติเหตุจากการก่อสร้างบ่อพักที่ไม่เรียบร้อยและการแก้ไขเรื่องร้องเรียนของประชาชนร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภค โดยมีหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัด เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การประปานครหลวง (กปน. ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กรมทางหลวง โดยใช้เวลาประชุมราว 1.30 ชม.

รองปลัด กทม. กล่าวว่า จากเหตุการณ์ประชาชนพลัดตกบ่อพักของ กฟน. บริเวณซอยลาดพร้าว 49 เสียชีวิตนั้น จากการประชุมกันในวันนี้ ทุกหน่วยงานต้องปรับปรุงมาตรการเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพราะมาตรการเดิมใช้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว รวมถึงต้องนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาติดตามมาตรฐานบ่อพักทุกบ่อเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน และเพิ่มประสิทธิภาพระบบรับเรื่องร้องเรียนให้มีความรวดเร็ว

“การรับเรื่องร้องเรียน จากระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ที่ กทม.ได้แจ้งไปยัง กฟน.นั้น กทม.ตระหนักและให้ความสำคัญการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ซึ่งจุดนี้ต้องมีการสื่อสารเพิ่มเติมหรือรายงานติดตามกับหน่วยงานที่ดำเนินการ ว่าสิ่งที่แก้ไขไปแล้วเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยหรือไม่ ซึ่งเป็นมาตรการที่ต้องกำชับต่อไป” รองปลัด กทม. กล่าว

ส่วนการตรวจสอบฝาท่อระบายน้ำที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงาน สังกัด กทม. นั้น รองปลัด กทม. กล่าวว่า โดยปกติ หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก เช่น สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ หรือ สำนักงานเขตจะมีการตรวจสอบความแข็งแรง ความปลอดภัยเป็นประจำโดยเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในจุดดังกล่าว หากพบความชำรุดก็จะแจ้งเข้าระบบของหน่วยงานทันที เพื่อดำเนินการแก้ไขภายใน 24 ชม.

ด้าน นายสถิตย์ พงศธรวิบูลย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบบ่อพักในผิวจราจร ปัจจุบัน กฟน.มีบ่อพักในพื้นที่ กทม.จำนวน 1,877 บ่อ มีทั้งบ่อที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จากการตรวจสอบจุดฝาบ่อทั้งหมดรวมถึงในพื้นที่ จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ พบว่าฝาบ่อเหล็กที่เหลือทั้งหมดอยู่ในสภาพดี ส่วนฝาบ่อชั่วคราวก็เป็นไปตามมาตรการที่ได้เสนอเจ้าของพื้นที่ไว้แล้ว

ซึ่งในที่ประชุม กฟน.ได้รายงานรูปแบบการตรวจสอบฝาบ่อพักชั่วคราวทั้งหมด ว่าจะมีทั้งการตรวจสอบรายวันในช่วงเช้าและบ่าย การสุ่มตรวจโดยผู้บริหาร กรณีพบปัญหาจะมีทีมแก้ปัญหาเร่งด่วน นอกจากนี้ จะตรวจสอบโดยวิธีสแกน GPR ในช่วงกลางคืนด้วย โดยมีการรายงานสถานะของบ่อพักผ่าน Google Maps ทั้งนี้ ลักษณะการปิดฝาบ่อที่ประชาชนตกลงในบ่อเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 67 ได้ดำเนินการ คืนสภาพฝาบ่อถาวรแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามมาตรการเยียวยาของ กฟน.

ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟน. กล่าวถึงมาตรการป้องกันการขโมยฝาท่อว่า ในอนาคต กฟน. จะนำฝากลมคอนกรีต UHPC ปิดบ่อพักไฟฟ้าใต้ดิน (UHPC Manhole cover) มาใช้เพื่อลดปัญหาฝาเหล็กถูกขโมย ลดปัญหาฝามีเสียงดังเมื่อรถวิ่งผ่าน โดยจะมีส่วนผสมของคอนกรีตและไฟเบอร์ สามารถนำไปแทนที่ฝาเหล็กเดิมได้ทันที จากการทดสอบความคงทนพบว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่าฝาเหล็ก ทดลองติดตั้งถนนชัยพฤกษ์แล้ว ยังไม่พบปัญหาแต่อย่างใด และหากต้องการย้ายจะต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เฉพาะเพื่อช่วยทุ่นแรงและเกิดความปลอดภัยสำหรับคนทำงาน

นอกจากนี้จะนำกล้อง AI มาตรวจสภาพผิวจราจร นำร่องถนนพระราม 3 เพื่อตรวจสอบถนนทรุดและการทำงานของผู้รับเหมาว่าได้มาตรฐานตามที่ กฟน.ระบุไว้หรือไม่ ขณะนี้ดำเนินการทดลองมาแล้ว 3-4 เดือน ซึ่งก็อยู่ระหว่างเก็บข้อมูล

นอกจากนี้ กฟน.ได้รายงานข้อร้องเรียนในระบบ Traffy Fondue ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 67 พบมีเรื่องร้องเรียนจำนวน 537 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานในพื้นที่ทางเท้าและผิวจราจร มลพิษจากการทำงาน และความปลอดภัย ซึ่งแนวทางแก้ไขได้กำชับให้ผู้รับจ้างปฏิบัติตามคู่มือก่อสร้างงานสาธารณูปโภค พ.ศ. 2551 และควบคุมการคืนสภาพผิวจราจรชั่วคราว-ถาวรอย่างเคร่งครัด รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงทราบก่อนดำเนินการก่อสร้างทุกครั้ง ทั้งนี้หากได้รับแจ้งปัญหา กฟน.จะพยายามเข้าพื้นที่เพื่อแก้ไขภายใน 24 ชม.

สำหรับกรณีอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เสียหลักล้มในอุโมงค์มไหสวรรย์ ทำให้ นายวัลลภ อายุ 29 ปี ชาว จ.อุบลราชธานี ผู้ขับขี่พลัดตกลงไปในท่อระบายน้ำบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 5 พ.ค. นั้น รองปลัด กทม. กล่าวว่า เบื้องต้นอุโมงค์ทางลอดจะไม่อนุญาตให้รถจักรยานยนต์สัญจรผ่าน แต่กรณีดังกล่าวนั้น ทาง กทม.ก็จะดูแลเยียวยาอย่างเต็มที่ตามระเบียบ เนื่องจากจุดดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. ส่วนฝาท่อที่เกิดช่องว่างและหายไป หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องมีมาตรการตรวจสอบและติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างการหาแนวทางร่วมกัน

ซึ่งฝาท่อในอุโมงค์ทางลอดมีความกว้างประมาณ 1 เมตร เพื่อเป็นทางเดินในการเข้าไปซ่อมบำรุงรักษา ระบบสูบน้ำและระบบระบายน้ำภายในอุโมงค์ กทม.อยู่ระหว่างการหามาตรการป้องกันไม่ให้ฝาเกิดการสูญหาย ซึ่งจากรายงานทราบว่า ฝาท่อที่ถูกเปิดไว้นั้นถูกขโมยไป รวมถึงมีการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบว่าบริเวณนี้มีบ่อพักน้ำเพื่อหลีกเลี่ยง พร้อมกับกำชับเจ้าหน้าที่หากเกิดปัญหาจะต้องแก้ไขโดยเร็ว

ทางด้านนายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผอ.สำนักการโยธา กทม. เผยว่า ในระยะสั้น กทม.จะตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงกรณีฝาท่อที่ถูกขโมยและได้แจ้งความกับตำรวจไว้แล้ว แต่เหตุใดหลังจากนั้นจึงไม่ได้มีการแก้ไขปิดฝาท่อเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ ปัจจุบันได้นำฝาท่อซีเมนต์มาปิดครบแล้ว

ส่วนในระยะยาวฝาท่อที่ถูกขโมย คือฝาท่อเหล็กซึ่งมีมูลค่า กทม.จะปรับเป็นฝาท่อซีเมนต์ ขณะเดียวกันจะมีการประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตรวจตราร้านค้าที่รับซื้อของจากทางราชการซึ่งรวมไปถึงฝาท่อรวมไปถึงสายไฟและอื่นๆ ด้วย.