ว่าให้กระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบการดำเนินการเจรจาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล และการร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกัน ก็ต้องเป็นหน้าที่ของ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศคนใหม่จะต้องหาทางดำเนินการ

ถ้าพูดถึงเฉพาะปัญหาข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชานั้น “มาริษ” เคยถูกยืมตัวไปช่วยราชการที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงสมัยรัฐบาลของ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นช่วงเวลาที่มีการลงนามในบันทึกความข้าใจปี 44 แม้ว่าผู้รับผิดชอบหลักในเวลานั้นคือ “สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” สมัยเป็นรมว.การต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ในกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ แต่ “มาริษ” ก็อยู่ในฐานะที่จะรับรู้รับทราบการดำเนินการในเรื่องนี้ได้

เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขข้อพิพาทในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลและการร่วมพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมกับกัมพูชาสามารถเดินหน้าต่อไปได้ รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่มีความจำเป็นจะต้องดำเนินการในสิ่งที่ค้างคาให้ลุล่วงในหลายประเด็น เช่น การพิจารณาโครงสร้างของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) หรือ JTC ตามที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมายได้เตรียมการเอาไว้ ว่าครอบคลุมเพียงพอต่อการผลักดันการเจรจาหรือไม่ ซึ่งในองค์ประกอบเดิมที่ได้ทำเอาไว้นั้น คณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิคจะต้องมีองค์ประกอบร่วมทั้งฝ่ายที่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องอาณาเขตทางทะเล ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายที่จะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงานและการจัดทำระบอบพัฒนาร่วม

เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว ที่ผ่านมาเคยมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อเป็นคณะทำงานอีกอย่างน้อย 2 ชุด คือ ชุดหนึ่ง นำโดย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิจารณาและเจรจาเรื่องการแบ่งเขตทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ ซึ่งบันทึกความเข้าใจกำหนดว่า จะต้องแบ่งกันกับ ชุดสอง นำโดย อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เพื่อรับผิดชอบในเรื่องการจัดทำระบอบพัฒนาร่วม การแบ่งปันผลประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกับกัมพูชา

ทั้งนี้รมว.การต่างประเทศ อาจจะทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิคด้วยตนเอง หรืออาจจะเสนอให้บุคคลอื่นใดที่เห็นสมควรให้ครม.อนุมัติแต่งตั้งก็ย่อมทำได้ อีกทั้งยังสามารถเสนอแต่งตั้งผู้แทนภาคเอกชนหรือผู้เชี่ยวชาญทั้งเรื่องพลังงานและการกำหนดอาณาเขตทางทะเล เข้ามาเป็นคณะกรรมการหรือที่ปรึกษา

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่จะต้องนำเข้ามาพิจารณาร่วม ในการดำเนินการผลักดันให้เกิดการเจรจาแก้ไขปัญหาพิพาททางทะเลคือ ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบันทึกความเข้าใจ ฉบับปี 44 ว่าด้วยพื้นที่ที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันในทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่ง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันยกขึ้นมาเป็นประเด็น ร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า บันทึกความเข้าใจนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีบทที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเขตแดนหรืออำนาจอธิปไตยเหนือเขตแดน ที่รัฐธรรมนูญทั้งในอดีตและปัจจุบันกำหนดว่าจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน

ในเมื่อกระทรวงการต่างประเทศและกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นผู้ถูกร้อง ก็เป็นภาระของรมว.ต่างประเทศคนใหม่ที่ต้องพิจารณาและนำเสนอทางออกต่อคณะรัฐมนตรีว่า จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป จะขอให้สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลถอนคำร้องนั้นออกไปเสีย หรือปล่อยให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการต่อไปจนจบกระบวนการ หรือจะชิงลงมือนำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไปผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเพื่อให้มีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือจะหาวิธีอื่นใดก็ล้วนแล้วแต่จะต้องตัดสินใจทั้งสิ้น

ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า “มาริษ” จะเดินหน้าในเรื่องนี้ที่การเจรจาค้างคามากว่า 20 ปี อย่างไร และจะสามารถผลักดันให้การเจรจาสำเร็จลุล่วงได้ภายใน 18 เดือน ตามที่นายกฯเศรษฐาได้เคยกล่าวไว้หรือไม่!.