เช่นเดียวกันกับ “กรุงเทพมหานคร” (กทม.) ที่กำลังเปิดหน้ารับความท้าทายในหลากหลายด้าน ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศ การจราจรติดขัด พื้นที่สีเขียวลดลง ขยะล้นเมือง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

 Sustainable Daily ชวนพูดคุยเพื่อเปิดมุมมอง “พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์” ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร (Chief Sustainability Officer) คนแรกของกทม. ถึงแง่มุมการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย “พรพรหม” ระบุว่า การจะยกระดับเมืองหลวงของประเทศไทยให้สามารถก้าวไปสู่เมืองยั่งยืนได้อย่างแท้จริง จะต้อง “อาศัยความร่วมมือจากหลายสำนักหรือหน่วยงานต่าง ๆ ” ไม่ว่าจะเป็นส่วนของการพัฒนากระบวนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนเมือง ให้ครอบคลุมทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการมีส่วนร่วม

“เวลาเราทำนโยบาย ทำโครงการ ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้เน้นเลยว่าต้องครบ 4 เกลียว กทม. 1 เกลียว จะทำคนเดียวไม่ได้ ต้องดึงภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคสังคม และภาคชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมให้ครบ จริงอยู่ ที่สำนักสิ่งแวดล้อมทำเรื่องความยั่งยืนเป็นหลัก แต่ความยั่งยืนไม่ได้มีเพียงการบริหารจัดการขยะ พื้นที่สีเขียว คุณภาพอากาศ เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น นํ้าเสียก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่เป็นของสำนักระบายนํ้า เรื่องมลพิษ ก็อยู่ในการดูแลของสำนักจราจรและขนส่ง กทม. จึงเห็นว่า จริง ๆ แล้วควรจะต้องมีคณะทำงานที่จะช่วยเป็นสะพานเชื่อมแต่ละสำนักที่ทำเรื่องความยั่งยืนเข้าด้วยกัน ซึ่งในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของตำแหน่งที่ผมเข้ามาทำ ตอนนี้มีต่างชาติเข้ามาพบท่านผู้ว่าฯ เยอะมาก เช่น ท่านทูต หรือเอ็นจีวีต่าง ๆ เขาจะถามเราจะทำอะไรในการพัฒนาเมืองร่วมกันได้บ้าง ท่านผู้ว่าฯ เน้นตลอด อยากให้เราเหมือนเป็นคน ๆ หนึ่งที่นั่งบนบ่าของยักษ์ เวลานั่งบนบ่าของยักษ์ เวลายักษ์ยืนขึ้นเราจะเห็นทุกอย่าง” พรพรหม กล่าว

ทั้งนี้หน่วยงานใดคิดเรื่องนวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ เราก็จะไปดึงความยั่งยืนออกมาว่า จริง ๆ แล้วนอกเหนือจากนวัตกรรมที่คุณคิด คุณกำลังทำเรื่องลดขยะได้อย่างมหาศาล เช่น งานลอยกระทงดิจิทัล ซึ่งลดได้ดีกว่ากระทงออแกนิก กระทงขนมปัง หรือกระทงโฟม หรืออย่างภาคเอกชน ในเรื่องของการลดคาร์บอน เพราะกระแสคาร์บอนเครดิตที่กำลังเป็นที่จับตา เอกชนสนใจอยากมาร่วมด้วย เราก็เก็บข้อมูลจากกิจกรรมของเขา แล้วช่วยซัพพอร์ตในการดึงข้อมูลมาทำเรื่องยั่งยืน ผมคิดว่าส่วนนี้เป็นมิติสำคัญที่จะทำให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่าย

โครงการ “Bangkok City Lab” หรือ “ห้องทดลองเมือง”เป็นการทดลองปรับปรุงพื้นที่สาธารณะชั่วคราว ในรูปแบบที่ทำง่าย รวดเร็ว และใช้ต้นทุนตํ่า พร้อมการติดตามผลตอบรับจากผู้ใช้งานจริง และนำมาสรุปเป็นแนวทางการออกแบบพื้นที่ สำหรับส่งต่อให้หน่วยงานที่ขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาเมืองในระยะยาวต่อไป มีเป้าหมายและแนวทางในการทดลอง ตั้งแต่ส่งเสริมการเดินเท้าในละแวกใกล้เคียง สร้างความเชื่อมต่อ เพิ่มความสะดวกสบาย ทั้งยังปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่จุดหมายปลายทาง และผลักดันให้เกิดกิจกรรมหมุนเวียน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

“คอนเซปต์ของ “Bangkok City Lab” คือ ตอนนี้เรามีสตาร์ทอัพที่มีไอเดียดี ๆ เยอะ และมีโปรโตไทป์แล้ว แต่ยังไม่ได้ทดลอง เพราะไม่มีพื้นที่ ท่านผู้ว่าฯ อยากจะเปิดให้กทม. เป็นแล็บจริง ๆ จึงให้เขานำของมา เช่น คุณทำระบบดักขยะในคลองมาเข้าโครงการ เราจะประสานเขตให้นำมาทดลองใช้ได้ และถ้ามันเวิร์กคุณก็อาจจะเอาไปขอทุนต่อได้ เพราะได้ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นมาแล้ว” พรพรหม กล่าว

“โครงการ BKK Food Bank Center” แบ่งปันอาหารให้กลุ่มเปราะบางไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ และเป็นอีกช่องทางในการกระจายของสู่ผู้ที่มีความต้องการ เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือระหว่างผู้ให้และผู้รับอย่างยั่งยืน ผู้รับจะได้รับการสะสมแต้มแลกสินค้า เพื่อสร้างระบบการบริหารจัดการด้านการจัดเก็บฐานข้อมูลอย่างยั่งยืน ซึ่ง กทม.ได้ทำระบบขนส่งอาหารเอง และร่วมกับมูลนิธิ สโกลารส์ ออฟซัสทีแนนซ์ (Scholars Of Sustenance : SOS Thailand) ช่วยตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารก่อนใช้รถเทศกิจ ส่งต่อเวียนไปยังชุมชนต่าง ๆ นำร่อง 10 เขต โดยภายปี 67 จะขยายให้ครบ 50 เขต

“สวน 15 นาที” เป็นนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียว และพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ภายใน 10-15 นาที หรือ 800 เมตรโดยประมาณ ซึ่งอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน โดยพัฒนาพื้นที่เดิมควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่ใหม่ กล่าวคือ พัฒนาลานกีฬาทั้ง 1,034 แห่งที่มีอยู่แล้ว ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เนื่องด้วยเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีการกระจายตัวมากที่สุด นอกจากนี้ยังเพิ่มมิติด้านสิ่งแวดล้อมให้กับพื้นที่เดิมเช่นลานกีฬา ด้วยการเพิ่มไม้พุ่ม ไม้ประดับ หรือสวนแนวตั้ง เพื่อเพิ่มมิติการใช้งาน และสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น ส่วนการเพิ่มพื้นที่ใหม่ คือการหาพื้นที่พัฒนา Pocket Park ขนาดเล็กในแต่ละพื้นที่ โดยศึกษาพื้นที่ของทั้ง ราชการ และเอกชน อาทิ สถานที่ราชการ แปลงที่ดินว่าง พื้นที่รอการพัฒนา พื้นที่รกร้างซึ่งติดขัดข้อกฎหมาย พื้นที่จุดบอดต่าง ๆ ของโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ระยะ ถอยร่น พื้นที่ว่างหน้าอาคารขนาดใหญ่ รวมถึงอาศัยกลไกทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจูงใจให้เอกชนมอบที่ดินให้ กทม.พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่องดเว้นการเสียภาษี

“พอพูดเรื่อง SDG เราในฐานะสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. คนจะชอบคิดว่าผมต้องพูดถึงข้อที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ซึ่งจริง ๆ นั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ผมว่าหัวใจสำคัญของเป้าหมาย SDG สำหรับกทม. คือข้อ 16 มันคือเรื่องของความเชื่อมั่นในองค์กร ซึ่งผมว่าสิ่งที่ท่านผู้ว่าฯ เน้นจริง ๆ คือการใช้ระบบดิจิทัลที่มีความโปร่งใส ทำให้ กทม.เป็นที่น่าเชื่อถือ” พรพรหม กล่าว

ทั้งนี้ “พรพรหม” ยังระบุอีกว่า กทม.ได้มีแผนความยั่งยืน 20 ปี เช่น เรื่องนํ้าเสีย จราจร พลังงาน เรื่องการปรับตัวจากกระทบที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาหาร การเกษตร ฯลฯ ก็จะต้องอยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน สำนักสิ่งแวดล้อมจึงลดขอบเขตลงมาจากแผน 20 ปี ให้ครอบคลุมเรื่องความยั่งยืน เน้นในมิติสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังพยายามจะหยิบประเด็นที่ไม่มีหน่วยงานใดเป็นผู้ริเริ่มพัฒนา มาผลักดันให้เป็นวาระสำคัญ อย่างเรื่องอาหาร เกษตร แม้ต้นนํ้าจะเป็นความรับผิดชอบของสำนักพัฒนาสังคม ส่วนปลายนํ้าของอาหาร คือเศษอาหาร ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมต้องดูแล ซึ่งกลายเป็นดูแลหลายสำนัก ทว่าหากบรรจุประเด็นเหล่านี้เป็นหนึ่งในวาระสำคัญ จากนั้นระบุให้ชัดเจนว่าหน่วยงานใดต้องรับผิดชอบส่วนใด เป้าที่จะต้องผลักดันมีอะไรบ้าง เพื่อจะสามารถร่วมมือกันเปลี่ยน กทม.ให้เป็นเมืองยั่งยืนได้อย่างแท้จริง.

ปิยาพัชร นนทะสี
[email protected]