มาร์เก็ตบัซซ์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดผลสำรวจล่าสุดปี 2567 หัวข้อ “5 อันดับแรกของความกังวลต่อสาธารณะ” จากผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 1,000 คน ในเดือนเมษายน 2567 พบปัญหาสิ่งแวดล้อม ยังติดอันดับสิ่งที่คนไทยกังวลมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 30 ของผู้ตอบแบบสอบถาม รองลงมาคือเรื่องของค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 28 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งทั้งสองหัวข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่คนไทยกังวลมากที่สุดจากการสำรวจในปี 2566 เช่นกัน โดยการสำรวจนี้อยู่ในบริบทที่เกี่ยวกับความกังวลหลักๆ ของประชาชนที่มีต่อประเทศ ซึ่งรวมถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นของหน่วยงานรัฐ, งานสาธารณสุข, การจราจร, อาชญากรรมและสภาพเศรษฐกิจโดยรวม

ผลการสำรวจยังระบุว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนไทยกังวลมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาวะโลกร้อน (ร้อยละ 30) มลภาวะทางอากาศ (ร้อยละ 27) และการเปลี่ยนแปลงของอากาศ/อุณหภูมิ (ร้อยละ 22) สำหรับสาเหตุของปัญหามลภาวะทางอากาศ คนไทยมีความเห็นที่หลากหลาย โดยสาเหตุ 5 อันดับแรก ได้แก่ ควันจากท่อไอเสียในการใช้รถยนต์ (ร้อยละ 30) การเผาขยะหรือผลิตผลทางการเกษตร (ร้อยละ 26) การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมหรือพลาสติก (ร้อยละ 23) สารเคมีที่ใช้ในการก่อสร้าง รวมถึงฝุ่น ควันต่างๆ (ร้อยละ 22) และการเผาไหม้เชื้อเพลิง จากถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ (ร้อยละ 21)

มร.แกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมาร์เก็ตบัซซ ระบุว่า จากผลสำรวจปี 2567 ชี้ให้เห็นว่าความกังวลของคนไทยด้านสิ่งแวดล้อมยังทวีความรุนแรงขึ้น สูงถึงร้อยละ 74 และรู้สึกว่า สิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 62 ในปี 2565 ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนร้อยละ 37 ยังมีความกังวลอีกว่า สภาพแวดล้อมจะเลวร้ายลงไปอีกในอีก 5 ปีข้างหน้า แม้จะมีความกังวล แต่กลับพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ขณะที่พฤติกรรมที่ร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พบมากที่สุด คือ ไม่สนับสนุนการซื้อขาย/บริโภคสินค้าของป่า ของลักลอบหรือผิดกฎหมาย (ร้อยละ 37) รองลงมาคือ การลดการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (ร้อยละ 34) และการใช้ถุงและบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (ร้อยละ 33) ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังมีช่องว่างให้รณรงค์และส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป

ผลการสำรวจยังเผยว่า ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับภาคธุรกิจ โดยจะเห็นว่ามีบริษัทหรือองค์กรที่ให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมากขึ้น โดยในปีนี้ มีถึง 4 บริษัทที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมในระดับเกินกว่า 40% ได้แก่ ทรู, ปตท, ซัมซุง และเอไอเอส

ผศ.ดร.ประภาภรณ์ติวยานนท์มงคลวนิชคณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า แม้จะมีความตระหนักสูง แต่ยังคงมีช่องว่างระหว่างความตระหนักกับการลงมือปฏิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องแก้ไข เราควรพิจารณาแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมให้บุคคลและองค์กรต่างๆ เลือกทางเลือกที่ยั่งยืนได้อย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับนโยบายของภาครัฐ