เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวถึง กรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ว่า ให้กระทรวงแรงงานกับกระทรวงการคลังหารือกัน กรณีสถานประกอบการลดพนักงานว่า เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตนได้หารือร่วมกับนายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง เรียบร้อยแล้ว จากนี้จะเชิญผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในกิจการต่างๆ เข้ามาหารือกันว่าเมื่อถึงเวลาในวันที่ 1 ต.ค. นี้ ที่จะมีการประกาศค่าแรงที่ 400 บาท ทั้งประเทศพร้อมกันและเท่าเทียมกันนั้น ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องใดบ้าง เพื่อออกมาตรการดูแลแรงงานและผู้ประกอบการอย่างเหมาะสม

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า เราได้มีการหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อจะแก้ปัญหาในส่วนที่ผู้ประกอบการประสบความเดือดร้อน หรือมีอะไรที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลได้ช่วยเหลือก็ขอให้หารือเข้ามา ซึ่งตนได้หารือกับปลัดกระทรวงแรงงาน และอธิบดีกรมการจัดหางาน ในเรื่องของการจัดเตรียมตำแหน่งงานว่างกว่า 500,000 ตำแหน่ง เพื่อรองรับคนที่ถูกปลดออกจากงานหรือสถานประกอบการลดกำลังแรงงาน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การปรับค่าแรง 400 บาท ยังไม่กระทบในเรื่องนี้ แต่เมื่อมีการลดกำลังแรงงานลงในสถานประกอบการต่างๆ ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ที่จะต้องหาตำแหน่งงานเพื่อการทดแทน

โดยการทำงานในประเทศนั้น ทางกรมการจัดหางานได้เตรียมความพร้อมที่จะแมชชิ่งตำแหน่งงานได้ในทันที หากพบว่าแรงงานในจังหวัดหนึ่งจังหวัดใดถูกปลดออกจากงาน ก็จะเอาคนงานในจังหวัดนั้นไปเติมเต็มในแต่ละจังหวัด และต้องดูด้วยว่า การโยกไปทำงานในจังหวัดใหม่นั้น จะกระทบกับค่าครองชีพหรือไม่ ในส่วนนี้กระทรวงแรงงานจะหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอความร่วมมือช่วยตรึงราคาสินค้าอีกทางหนึ่งด้วย

ส่วนการเตรียมตำแหน่งงานรองรับในต่างประเทศนั้น ที่ผ่านมา ตนพร้อมผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางไปหลายประเทศเพื่อหาแรงงานเพิ่ม โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ มีรายได้สูงกว่าการทำงานในประเทศไทย เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิสราเอล และประเทศแถบยุโรป ซึ่งแต่ละประเทศก็มีการตอบรับที่ดี มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคก่อสร้าง เชื่อว่าเป้าหมายที่จะส่งแรงงานไปทำงานในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 100,000 คน จะเป็นไปตามเป้าหมายแน่นอน และในวันที่ 11 มิ.ย. นี้ ตนจะไปประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จะได้มีการหารือทวิภาคีกับประเทศในภาคพื้นยุโรป เพื่อขอตำแหน่งงานในการที่จะส่งแรงงานไทยไปทำงานในภาคพื้นยุโรปด้วย