ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ท่อทองแดง ต.หนองปลิง อ.เมือง นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร นำคณะผู้บริหารพร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมให้การต้อนรับ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีและคณะ ในโอกาสลงพื้นที่ติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร โดยมีนางสาวสุพัตรา คล้ายทิม, นายอนุชา พัสถาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร, พลตรีประสิษฐิพงศ์ มูลดี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 31 นายทวีวัฒน์ สืบสุขมั่นสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4, นายสิริพล รักษนาเวศ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง, นายชวนินทร์ สุภาษา ผู้อำนวยการส่งนำและบำรุงรักษาท่อทองแดง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ

จากนั้นองคมนตรี และคณะฯ เยี่ยมชมพื้นที่โครงการฯ และพบปะราษฎรในพื้นที่ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2521 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้านที่จังหวัดกำแพงเพชร และมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน พิจารณาวางโครงการเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2521 กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริเปิดโครงการชลประทานประเภทรับน้ำนอง พื้นที่ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชรขึ้น โดยในปี 2524 ได้ก่อสร้างอาคารปากคลองส่งน้ำบริเวณตลิ่ง และขุดลอกคลองชักน้ำรับน้ำจากแม่น้ำปิง แล้วเสร็จในปี 2528 สามารถส่งน้ำในพื้นที่ได้ประมาณ 100,000 ไร่ ต่อมาในปี 2530 จังหวัดกำแพงเพชร ประสบปัญหาภาวะภัยแล้ง ทำให้พืชผลด้านเกษตรกรรมได้รับความเสียหายอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาน้ำจากแม่น้ำปิงไม่ไหลเข้าโครงการชลประทานประเภทรับน้ำนอง ทางด้านฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิง จึงมีการเสนอโครงการก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิงเพื่อยกระดับน้ำให้เข้าคลองส่งน้ำ โดยก่อสร้างในบริเวณใต้คลองส่งน้ำโครงการท่อทองแดงเป็นแห่งแรก เป็นโครงการนำร่อง แต่ก็ประสบปัญหาไม่สามารถส่งน้ำเข้าระบบได้ ในปี 2536 จึงได้ดำเนินการสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง และในปี 2547 ได้มีการปรับปรุงคลองส่งน้ำสายใหญ่และท่อระบายน้ำปากคลอง ต่อมาในปี 2555 โครงการฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิงได้ยกระดับเป็นโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง และได้มีการพัฒนาระบบคลองส่งน้ำ ปรับปรุงอาคารปากคลองส่งน้ำใหม่ จากเดิมรับน้ำจากแม่น้ำปิงเข้าในอัตรา 25 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มเป็น 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เพิ่มพื้นที่ส่งน้ำในเขตชลประทานได้ประมาณ 245,560 ไร่ พื้นที่นอกเขตชลประทานได้ประมาณ 82,240 ไร่ และพื้นที่รับประโยชน์ในเขตจังหวัดสุโขทัย บริเวณอำเภอคีรีมาศ และอำเภอกงไกรลาศ ได้ประมาณ 56,000 ไร่ รวมพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบการส่งน้ำประมาณ 383,800 ไร่

ในการสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้จัดทำแผนการปรับปรุงโครงการฯ ประกอบด้วย การปรับปรุงช่วงต้นคลอง การปรับปรุงคลองส่งน้ำและอาคารประกอบ จำนวน 20 สาย และโครงการแก้มลิง จำนวน 24 แห่ง โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว รวมทั้งสิ้น 17 โครงการ 74 กิจกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำของราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงให้สามารถใช้น้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพทั้งด้านอุปโภคบริโภค การประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม การประมง รวมถึงช่วยลดปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นนำความสุขมาสู่ประชาชนได้อย่างมั่นคงสืบไป