สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ว่าสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำเมืองย่างกุ้งออกแถลงการณ์ ว่าพล.อ.เต็ง เส่ง อดีตประธานาธิบดีเมียนมา ระหว่างปี 2554-2559 ซึ่งเป็นยุคของรัฐบาลทหารกึ่งพลเรือน เดินทางไปยังประเทศจีน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เพื่อเข้าร่วมการประชุมครบรอบ 70 ปี ที่กรุงปักกิ่ง ว่าด้วยหลักการ 5 ข้อของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติด้านนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของจีน
ก่อนเดินทางไปยังจีน ซึ่งเป็นการเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกนับตั้งแต่เมียนมาเกิดการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 นายพลเต็ง เส่ง พบหารือกับนายเฉิน ไห่ เอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมา “เกี่ยวกับสถานการณ์ภายในเมียนมา และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศ” และเมื่อเดินทางไปถึง นายหวัง อี้ รมว.การต่างประเทศจีน ให้การต้อนรับพล.อ.เต็ง เส่ง ด้วย
Chinese Foreign Minister Wang Yi met with former Myanmar President U Thein Sein, former Republic of Korea (ROK) Prime Minister Lee Hae-chan, and former Thai Deputy Prime Minister and Foreign Minister Don Pramudwinai separately in Beijing on Saturday. The dignitaries were in China… pic.twitter.com/ig3Qylvciw
— CCTV+ (@CCTV_Plus) June 30, 2024
แม้สถานการณ์ภายในเมียนมาวุ่นวายและรุนแรง นับตั้งแต่เกิดการยึดอำนาจ และพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารคนปัจจุบันของเมียนมา ยังไม่เคยเดินทางเยือนจีน นับตั้งแต่การรัฐประหาร แต่เมียนมายังคงมีความสำคัญสำหรับจีนอย่างมาก ในฐานะหนึ่งในพื้นที่สำคัญของการขยายโครงการพัฒนา ตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง
นอกจากนี้ สื่อท้องถิ่นหลายแห่งของรัฐบาลทหารเมียนมารายงานไปในทางเดียวกัน เมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการฟื้นโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมิตโสน ที่รัฐคะฉิ่น ทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งได้รับความสนับสนุนด้านงบประมาณจากจีน มูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 132,2567.60 ล้านบาท)
อนึ่ง โครงการก่อสร้างเขื่อนมิตโสนระงับไปเมื่อปี 2554 ในยุครัฐบาลทหารกึ่งพลเรือนของนายพลเต็ง เส่ง ซึ่งมีการให้เหตุผลเกี่ยวกับ ความวิตกกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของภูมิภาค ตลอดจนความเป็นอยู่ของประชาชนในบริเวณนั้น จากการที่เขื่อนมิตโสนซึ่งจะตั้งอยู่บนต้นน้ำของลุ่มน้ำอิรวดี และมีกำลังการผลิตสูงสุด 6,000 เมกะวัตต์ เมื่อแล้วเสร็จ และส่งกระแสไฟฟ้าให้กับจีนเป็นหลัก อาจส่งผลต่อเส้นทางน้ำ.
เครดิตภาพ : XINHUA