นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างเตรียมจัดหาผู้รับจ้างมาดำเนินการปรับปรุงขบวนรถไฟชั้น 3 จากเดิมเป็นขบวนพัดลม ให้เป็นขบวนรถไฟปรับอากาศ จำนวน 130 คัน เฉลี่ยคันละประมาณ 6 ล้านบาท รวมวงเงินประมาณ 780 ล้านบาท เพื่อยกระดับการให้บริการ และให้ประชาชนได้เข้าถึงการบริการที่ดีขึ้น โดยการดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 เริ่มดำเนินการปี 67 จำนวน 40 คัน วงเงิน 240 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จ และพร้อมบริการในปี 68 และระยะที่ 2 จะดำเนินการในปี68 จำนวน 90 คัน วงเงิน 540 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 69 จากนั้นจะทยอยเริ่มปรับปรุงขบวนที่เหลือจนครบทุกขบวน ซึ่งปัจจุบัน รฟท. มีขบวนชั้น 3 ประมาณ 300-400 คัน
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า การให้บริการรถไฟโดยสารมี 2 ประเภทคือ ขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ มีประมาณ 9 ล้านที่นั่ง และขบวนรถไฟเชิงสังคม มีประมาณ 26 ล้านที่นั่ง ซึ่งปัจจุบันมีผู้โดยสารมาใช้บริการขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์มากกว่าจำนวนที่นั่งที่รองรับได้ ซึ่งยังไม่รวมกับผู้ที่จองตั๋วล่วงหน้าอีกจำนวนมาก ขณะที่ขบวนรถไฟเชิงสังคม มีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 18.6 ล้านที่นั่ง แต่ผู้โดยสารที่มาใช้บริการในปัจจุบันยังไม่เต็มขีดความสามารถในการรองรับ ดังนั้น รฟท. จึงได้นำขบวนรถไฟเชิงสังคมมาปรับเป็นขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ในลอตแรก 130 คัน ที่นำมาปรับปรุงนั้น จะสามารถรองรับได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3.2 ล้านที่นั่ง รวมเป็นประมาณ 12.2 ล้านที่นั่ง ขณะที่ความต้องการที่นั่งยังอยู่ที่รวมประมาณ 18 ล้านที่นั่ง
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า การปรับขบวนรถเป็นรถปรับอากาศ ยอมรับว่าผู้โดยสารบางส่วนที่เคยนั่งรถพัดลม ที่เคยจ่ายค่าโดยสารถูกมาก อาจต้องจ่ายค่าโดยสารแพงขึ้น (รถร้อน เริ่มต้น 2 บาท รถแอร์ เริ่มต้น 20 บาท คิดตามระยะทาง) โดยเฉพาะผู้โดยสารกลุ่มเปราะบาง ซึ่ง รฟท. และรัฐบาล จะต้องเร่งมาหาแนวทางดูแลเพิ่มเติมนอกเหนือจากสิทธิที่ได้รับจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเพิ่มสิทธิการเข้าถึงการใช้บริการขบวนรถไฟปรับอากาศของผู้โดยสารทุกกลุ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำกับ รฟท. ว่าในการปรับปรุงขบวนรถดังกล่าว จะต้องไม่ให้กระทบกับการให้บริการประชาชน โดยจะต้องจัดสรรขบวนรถให้บริการอย่างเพียงพอ.