นายไคลด์ นูนส์ Head of Direct Sales SEA ของ ติ๊กต็อก กล่าวว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา คลิปวิดีโอกว่า 62 ล้านคลิปที่ละเมิดหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขในการให้บริการของ ติ๊กต็อกถูกลบออกไปทันทีหลังจากอัพโหลดเข้าสู่ระบบภายใน 24 ชั่วโมง และนับเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของคลิปวิดีโอที่ถูกอัพโหลดเข้าสู่แพลตฟอร์ม และยังมีสถิติที่น่าสนใจคือกว่า 81.8% ของวิดีโอถูกลบออกไปก่อนเกิดการรับชม 91.3% ถูกลบออกจากระบบก่อนผู้ใช้รีพอร์ตเข้ามา
“เราภูมิใจกับสถิติในการจัดการกับวิดีโอที่ไม่เหมาะสม และสะท้อนให้เห็นถึงความปลอดภัยของชุมชนของเรา แม้ว่าตัวเลขเหล่านี้อาจไม่ได้แสดงถึงความสำเร็จ 100% ในการจัดการเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม แต่ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ ติ๊กต็อก ในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี”
ทั้งนี้ ติ๊กต็อกมีเป้าหมายของการเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น ที่จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และมอบความสุขให้กับทุกคน จึงเปรียบเหมือนกับบ้านสำหรับการแสดงออกผ่านวิดีโอที่สร้างจากประสบการณ์จริง พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจ และความสนุกให้แก่ผู้ชม เพราะในทุกๆ วันจะมีผู้ใช้งาน ติ๊กต็อกหลายล้านคนเข้ามาค้นพบ และสร้างคอนเทนต์ที่มอบความสุขให้คนอื่น
นอกเหนือจากกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปแล้ว แบรนด์ กลายเป็นอีกส่วนที่เข้ามาใช้งาน ติ๊กต็อก เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทำให้ ติ๊กต็อกมีภารกิจเพิ่มเติมคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าเชื่อถือที่สุดสำหรับแบรนด์ โดยเฉพาะการจัดลำดับความสำคัญของความปลอดภัยของชุมชน ความโปร่งใส และความรับผิดชอบ เพื่อให้แบรนด์ตระหนักถึงขั้นตอนในการดำเนินงานเพื่อให้แพลตฟอร์มปลอดภัยมากที่สุด
ที่ผ่านมา ติ๊กต็อก มีมาตรการเพื่อปกป้องผู้ใช้บนแพลตฟอร์ม เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้งานทุกคนจะสามารถแสดงออกได้อย่างแท้จริง ผ่านการพัฒนานโยบายอย่างต่อเนื่อง มีแนวทางปฏิบัติในการกลั่นกรองอย่างชัดเจน รวมถึงการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ผ่านฟีเจอร์ความปลอดภัยต่างๆ รวมถึงการเข้าไปร่วมมือกับ 3 พันธมิตรในอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัล
“ในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ติ๊กต็อก ถือว่าเพิ่งเริ่มการเดินทางของเส้นทางที่มุ่งมั่นจะเป็นแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยที่สุดในโลก สำหรับการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ด้วยการดำเนินงานต่างๆ ทั้งรายงานความโปร่งใส การจัดตั้งศูนย์ความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ในระยะเวลาอันสั้น พร้อมมุ่งมั่นในการลงทุนเพื่อความปลอดภัยของชุมชน”
ทั้งนี้ภายในปี 2022 ติ๊กต็อกจะเริ่มเปิดโซลูชั่นในการจัดการตำแหน่งโฆษณาเพื่อความปลอดภัยของแบรนด์ (1P Brand Safety Inventory Filter) เพื่อเปิดให้แบรนด์สามารถควบคุมตำแหน่งโฆษณา โดยจะมีทั้งการหลีกเลี่ยงการโฆษณากับเนื้อหาที่ไม่เหมาะตามระดับความเสี่ยงที่กำหนดไว้คือ สูง กลาง และต่ำ ตามมาตรฐานความปลอดภัยของ GARM
พร้อมกันนี้ ยังได้เข้าไปร่วมมือกับ OpenSlate ที่คอยเข้าไปตรวจสอบเนื้อหาในแพลตฟอร์ม ช่วยลดความเสี่ยงในการโฆษณา ด้วยการคัดกรองเนื้อหาที่ผ่านมาตรฐาน ช่วยปกป้องชื่อเสียงของแบรนด์ พร้อมกับเปิดให้ทดสอบลงโฆษณาควบคู่ไปกับเนื้อหาที่ OpenSlate ตรวจสอบแล้ว ซึ่งจะมีการวัดและประเมินผลแบบรายสัปดาห์ โดยจะเริ่มให้บริการในอินโดนีเซียก่อน และจะครอบคลุมทั่วภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2022